ขอแสดงความเสียใจกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทุก ๆ ครัวเรือน วันนี้ผมอยากจะแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการก่อสร้างด้วยตนเอง (DIY) ไว้สักเล็กน้อย...
ผมไม่เคยเรียนวิชาก่อสร้างหรือสถาปัตย์มาก่อน แต่พอดีมาสนใจเรื่องงานปูนงานไม้ก็ตอนที่จำเป็นต้องซ่อมบ้านปงแสนทองด้วยตนเอง ผมซื้อหนังสือมาอ่านและปฏิบัติตามตำราไปเรื่อย ๆ พอได้เห็นภาพผนังที่ก่อด้วยอิฐหรือบล็อคล้ม นอกจากคิดว่าโชคดีที่มิได้ล้มใส่ผู้คนแล้วทำให้ต้องบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ...ผมยังรู้สึกว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้เราต้องมาตระหนักกันแล้วว่า ต่อไปถ้าจะสร้างอะไรง่าย ๆ แบบ DIY โดยมุ่งแต่เพียงความประหยัด ผลเสียหายอาจตามมาอย่างที่เห็น!
จากภาพการก่อบล็อคในภาพบนสุด ดูเหมือนชาวบ้านจะก่อสร้างแบบเอาง่ายเข้าว่า ลืมคำนึงถึงเรื่องการทำเสาเอ็นและทับหลัง เมื่อพื้นที่ผนังทั้งด้านกว้างและสูงถึงจุดที่จะต้องทำเสาเอ็นหรือทับหลัง การฝากเหล็กในขณะก่อบล็อคก็อาจจะไม่ได้กระทำด้วยซ้ำ!!
อะไรคือ "เสาเอ็นและทับหลัง"? ในเว็บ baanlaesuan.com ผู้เชี่ยวชาญได้อธิบายไว้ว่า...
เสาเอ็นจะทำหน้าที่ยึดประตูและหน้าต่างเข้ากับผนังบ้าน...อยู่ระหว่างผนังก่ออิฐกับวงกบข้างของประตู ส่วนทับหลังก็เปรียบได้คล้าย ๆ กับเสาเอ็น (แต่อยู่ในแนวนอน) คือทำหน้าที่รับน้ำของผนังซึ่งอยู่เหนือวงกบประตูหรือหน้าต่างและถ่ายน้ำหนักลงไปยังเสาเอ็น (คล้ายกับคานที่ถ่ายน้ำหนักลงเสา) ยึดประตูและหน้าต่างเข้ากับผนังบ้านเช่นเดียวกันกับเสาเอ็น
นอกเหนือจากหน้าที่ยึดวงกบของประตู และหน้าต่างเข้ากับผนังก่ออิฐแล้ว เสาเอ็นและทับหลังยังทำหน้าที่ยึดผนังกับผนังเข้าด้วยกัน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผนัง เพราะเมื่อผนังบ้านมีขนาดใหญ่มากๆ จะทำให้ผนังสามารถรับแรงที่กระทำที่ตั้งฉากกับผนังได้น้อยลง จึงจำเป็นจะต้องมีการทำเสาเอ็นและทับหลังเป็นระยะทุกๆ 2-3 เมตร เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับผนัง....
ขอขอบคุณ baanlaesuan.com
เจ้าของบ้านควรกำชับให้สถาปนิก ระบุให้ชัดเจนลงไปในแบบว่าจะต้องทำเสาเอ็นและทับหลังตรงตำแหน่งใดบ้างใช้เหล็กขนาดเท่าไหร่ อีกทั้งยังต้องกำชับให้ให้ผู้รับเหมาทำการก่อสร้างตามแบบอย่างเคร่งครัด...ด้วยความเป็นห่วงจากบล็อก "ช่างเหอะ" ครับ!
No comments:
Post a Comment