Thursday, March 01, 2012

Chromatic Tuner

สวัสดีครับ เพื่อน ๆ ที่รัก...

สองเดือนเต็ม ๆ ที่ผมหายเงียบไปจาก "บล็อกช่างเหอะ" ผมรู้สึกผิด...และต้องขออภัย

บางครั้งผมก็พยายามที่จะลงมือเขียนอะไรสักอย่างภายใต้นิยามว่า "อะไรก็ได้ที่มีประโยชน์และสามารถนำไปใช้ได้กับชีวิตที่เรียบง่ายได้" หรือที่ผมมักจะเรียกตัวเองว่า "ช่างเหอะ"  แต่ทุก ๆ ครั้งที่นึกจะเขียน...ความคิดมันไม่ไหลลื่นเอาเสียเลย คงเป็นเพราะผมไม่ค่อยได้ทำอะไรที่เกี่ยวกับงานช่างติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็ได้ สีที่ยังเหลืออยู่ในกระป๋องก็ถูกปล่อยละทิ้งไว้จนแห้ง สายเปียโนไม่ได้ตั้งมาเป็นปี งานไม้ก็ไม่ได้จับ หรือแม้กระทั่งการฝึกหัดเล่น accordion อย่างจริง ๆ จังตามที่ได้ตั้งใจไว้ ผมก็เลยไม่รู้ว่าจะตั้งต้นที่ไหนดี!

จริง ๆ แล้ว ผมรู้สึกว่าการเขียนบล็อกลงใน Blogger ของ Google นั้นทำได้ง่ายกว่าการเขียน "ฟังลุงน้ำชาคุย" ใน wordpress เสียด้วยซ้ำ ตัวอักษรก็ใหญ่กว่า พิมพ์ก็ง่าย เวลาโพสต์ภาพก็รวดเร็ว เรียกว่าสะดวกไปทุกอย่าง ผมน่าจะเขียนลงใน Blogger ให้เป็นเรื่องเป็นราวได้มากกว่า...

เริ่มต้นเดือนใหม่ คือเดือน "มีนาคม" ซึ่งเป็นเดือนเกิดของผม...ผมขอกลับมาเริ่มต้นเขียนต่อนะครับ และขอตั้งใจที่จะเขียนอย่างสม่ำเสมอ...เหมือนกับที่ผมเขียนใน "ฟังลุงน้ำชาคุย"  ที่สำคัญคือ..ระหว่างบล็อกตัวนี้กับบล็อก "ฟังลุงน้ำชาคุย" ผมจะต้องแยกให้ออกว่าเรื่องที่เขียนตรงนี่จะต้องเน้นในเรื่องที่มีประโยชน์และมีสาระ ส่วนที่เขียนใน "ฟังลุงน้ำชาคุย" ก็ขอให้เป็นเรื่องสัพเพเหระ เป็นเสียงบ่น หรือเล่าเรื่องราวในอดีตดังเช่นที่เป็นมา

วันนี้ผมอยากเขียนเรื่องของเครื่องมือช่างเปียโนอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งช่วยให้การตั้งสายเป็นโนนั้นง่ายและรวดเร็วขึ้น เจ้าตัวที่ผมจะกล่าวถึงก็คือ Electronic tuner

Electronic tuner คือเครื่องมือสำหรับวัดความถี่เสียง โดยมีหน้าปัทม์แสดงค่าซึ่งแตกต่างกันไป รุ่นเก่าจะเป็นประเภทเข็มชี้(needle)อย่างเดียว คือเป็นระบบ Analog ที่มีไมโครโฟนรับสัญญาณเสียงแล้วแปลงเป็นกระแสไฟฟ้าไปขับเคลื่อนทำให้เข็มชี้แสดงค่า ผมมีอยู่ตัวนึง คือ Korg WT-12 Chromatic Tuner ซึ่งซื้อไว้เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว จำได้ว่าฝากเพื่อนดุริยศิลป์รุ่นน้องซื้อมาจากฮ่องกง ผมเคยใช้เจ้า  Korg ตัวนี้ในช่วงที่รับตั้งสายเปียโนอยู่ที่เชียงใหม่ ตอนนี้มันพังไปแล้วล่ะ ซากของมันก็ยังอยู่แถวนี้นะ ผมอยากจะหามันมาถ่ายรูปให้เพื่อน ๆ ได้ดูซะหน่อย...แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน จึงต้องไปค้นหาภาพในอินเทอร์เน็ตมาลงแทน รุ่นนี้แหละ...หน้าตาเหมือนกันเลย

เป็นเครื่องมือรุ่นเก่าครับ เวลาวัดความถี่เสียงก็ต้องใช้มือปรับลูกบิดที่เห็นนั่นไปตามชื่อโน้ต (ในภาพคือ G) และปรับสวิชตัวที่สอง(ข้างล่าง)เพื่อเลือก octave ช่องไมโครโฟนสำหรับรับสัญญาณเสียงอยู่ตรงกลางด้านบน

การใช้งานไม่ยาก!  ถ้าตั้งสวิชเลือก octave ไว้ที่ M วางเจ้า Korg ไว้ใกล้ ๆ เปียโน...แล้วเคาะที่โน้ต G หากเสียงตรง...เจ้าเข็มชี้ก็จะขึ้นไปอยู่ที่เลข 0 (ตรงกลาง)  ถ้าเสียงต่ำกว่า..เข็มก็จะชี้ไม่ถึงเลข 0  หรือถ้าสูงกว่า..ก็จะชี้เลยเลข 0 ไป ช่างเปียโนก็จะพยายามตั้งสายด้วยค้อน ให้อ่านค่าแล้วเข็มชี้อยู่ที่เลข 0  ผมคิดว่าน่าจะมิใช่การตั้งสายด้วยหู (by ear) แต่เป็นการตั้งสายด้วยตา(by eye)มากกว่า...อิอิ

เจ้าเครื่องวัดตัวนี้ใช้ถ่าน AA ๔ ก้อน หรือจะใช้ adapter ขนาด 6 Volts ก็ได้ครับ

แม้ว่าจะเป็นระบบ Analog...เรื่องความเที่ยงตรงแม่นยำ (Accuracy) ก็นับว่าใช้ได้ เนื่องจากใช้ระบบ Quartz Crystal Oscillator  แต่มีข้อเสียตรงที่ว่า...ตัวใหญ่เกะกะ และกินไฟ! พอถ่านอ่อนก็เริ่มมีปัญหา ในย่านความถี่สูง ๆ หรือต่ำ...ก็ค่อนข้างจะวัดได้ยาก แถมเวลาเปลี่ยนเสียง(โน้ต)ก็ต้องละมือไปบิดลูกบิด

หลังจากใช้เจ้า Korg อยู่ได้หลายปี มีอยู่วันหนึ่งผมลงไปกรุงเทพฯ ได้ไปเห็นเจ้า Korg รุ่นใหม่ที่ไม่ต้องใช้มือปรับไปตามตัวโน้ตแต่ละตัวแล้ว เครื่องจะมีระบบ Pitch Detection สามารถปรับย่านเสียงได้โดยอัตโนมัติ ทำให้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แต่ผมไม่ได้ซื้อไว้ใช้หรอกครับ...

มามีโอกาสได้ใช้เครื่อง chromatic tuner ที่ตัวเล็กและบางกว่าเจ้า Korg ก็คือ Yamaha chromatic tuner รุ่น TD-1 ตัวนี้แหละ....


ขนาดเล็กลงเยอะเลย เหลือเพียงแค่ 4" x 1/2" x 2-1/2" แล้วก็ไม่ใช้ระบบเข็มแล้วด้วย

ใช้ระบบ Digital ซึ่งให้ความเที่ยงตรง +/- 1 cent อ่านค่าด้วย LED Meter คือเราไม่ต้องใช้มือปรับเลือกโน้ตเหมือนเครื่องรุ่นเก่าอีกต่อไป ระบบ Pitch Detection จะปรับเปลี่ยนให้เราเสร็จ และแสดงให้เห็นด้วยหลอด LED ที่เรียงกันอยู่ด้านล่าง จากโน้ต C ถึง B และถ้าเป็น # เจ้าหลอด LED สีเขียวด้านขวาสุดก็จะสว่างขึ้น   Chromatic tuner ตัวนี้ถูกออกแบบเป็นพิเศษสำหรับเครื่องลม (wind instruments) คือมีตัวปรับ Key ให้เข้ากับเครื่อง C, Eb, F แล่ะ Bb

ข้อเสียของเจ้า TD-1 ก็คือใช้ถ่านกระดุมแบบที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ CR-2025 จำนวน ๒ ก้อน ทำให้ต้องควักกระเป๋ามากหน่อย...เวลาเปลี่ยนถ่าน

เอามาใช้กับการตั้งสายเปียโนก็ดีเหมือนกัน คือใช้ทั้งหูและตา...ช่วยกันสองแรง ทำให้ช่างเปียโนเครียดน้อยลง มนุษย์ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความเหนื่อยล้าด้านการรับรู้ คือฟังมาก ๆ ก็มึนได้เหมือนกัน การใช้ Chromatic tuner บางครั้งก็ช่วยได้เยอะครับ  เรื่องที่จะคุยว่า "ผมตั้งเสียงเปียโนด้วยหู" เดี๋ยวนี้ล้าสมัยแล้วล่ะ ในเมื่อเทคโนโลยีก้าวไปไกล...เราก็ต้องปรับตัวตามให้ทัน

พรุ่งนี้ผมจะแนะนำเครื่องมืออีกตัวนึงซึ่งผมใช้อยู่ มันเป็น software ซึ่งสามารถนำมาติดตั้งไว้ในโทรศัพท์มือถือ แล้วใช้ได้ดีกับการตั้งสายเปียโนด้วยครับ...

2 comments:

bim said...

น่าสน น่าสน....ช่วยลด-ป้องกันก้านหูอักเสบ หูดับ ได้ป่าว !

Wichai said...

ผมอยากเป็นโรคหูดับ ไม่อยากฟังพวกนั้นพ่นน้ำลายอ่ะ...

ชียงใหม่ยังคงมีหมอกควันหลงเหลืออยู่บ้างใช่ไหม? รักษาสุขภาพด้วยนะครับ....