Tuesday, July 31, 2012

"เพลงมหาฤกษ์" ฉบับเร่งรัด...


เด็ก ๆ วงเมโลเดียนซึ่งผมไปสอนทุกเช้า...ส่วนหนึ่งเป็นนักเรียนชั้นประถม ๓ ที่เพิ่งเริ่มหัดได้ไม่นานมานี้เอง การเล่นเสียงประสานให้เข้ากับทำนองเพลงที่รุ่นพี่บรรเลง ถ้าเขียนให้ยากไป นักเรียนคงจะเล่นได้ยาก ผมจึงต้องเขียนให้ง่ายเข้าว่า

เพลง "มหาฤกษ์" ฉบับตัดตอนเป็นตัวอย่างที่ผมอยากนำมาแสดง ปกติก็เล่นทำนองตามกันไปเป็น unison พอดีผมซ่อม "เบสเมโลเดียน" ให้กลับมาใช้งานได้ ๑ ตัว จึงสามารถเพิ่มแนวเบสให้น้องแบงค์เล่นได้...

น้องแบงค์รับหน้าที่เล่นเบส
นักเรียนชั้นประถม ๓ วงเมโลเดียน
สำหรับเจ้าตัวน้อยเพิ่งเริ่มฝึก ผมก็ให้เล่นแนว Alto โดยพยายามเขียนให้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้

เขียนเพิ่มเติมจากโน้ตในหนังสือ "วงเมโลเดียน" ของ อ.ไพรัช มากกาญจนกุล
เป็นเพลงสำหรับใช้ในพิธีการ ทางวงต้องรีบต่อให้เล่นได้ทันการ ลองคลิกฟังเสียงดูนะครับ...

แก้ขัดไปก่อนน้า... 


Monday, July 30, 2012

A Simple Life


หลังจากเยือนพม่า ๑ สัปดาห์...วันที่ผมเดินทางกลับถึงลำปาง ก็ได้เห็นข้อความจากคุณเมธี ใน facebook บอกว่า "A Simple Life  เป็นภาพยนต์ที่เหมาะสำหรับลุงน้ำชา"  วันนั้นผมดาวน์โหลดได้มาแล้ว ตั้งใจว่าจะเปิดดู แต่งานรัดตัวเหลือเกิน ผมก็เลยเก็บดองไว้ จนกระทั่งมีโอกาสได้ดูเมื่อวานนี้เอง...


ไม่ผิดหวังเลยครับ ดูจนจบแล้ว...ผมยังต้องเปิดย้อนดูในช่วงท้าย ๆ เพื่อซึมซับความรู้สึกอันพึงได้จากภาพยนต์เรื่องนี้อีก...  

ในคอลัมน์บันเทิง หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ฉบับวันที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๕  คุณดำรัส โรจนพิเชฐได้เขียนไว้ว่า...
บางครั้ง หากมองย้อนกลับไปถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิตคนเรา โดยเฉพาะคนที่อยู่ใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหรือน้ำใจ ซึ่งคนผู้นั้นหยิบยื่นให้ พอถึงเวลาที่คิดอยากตอบแทน บางครั้งอาจสายเกินไป เช่นเดียวกับกรณีที่เกิดกับชีวิตจริงของโรเจอร์ ลี ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ชื่อดัง...
A SIMPLE LIFE ประสบความสำเร็จจากการฉายประกวดตามเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทั่วโลก และได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลม้าทองคำ ครั้งที่ 48 ณ กรุงไทเป ดีนนี อิป  ได้รับรางวัลดารานำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมในงานประกวดภาพยนตร์เทศกาลภาพยนตร์เวนิส ครั้งที่ 68 รวมทั้งรางวัลเอเซียนอวอร์ดส์ ดาราฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม...



ถึงฉากที่โรเจอร์(แสดงโดยหลิวเต๋อหัว) เปิดผ้าห่มซึ่งคลุมปลายเท้าของอาเตา(แสดงโดยดีนนี อิป ดารานักแสดงหญิงวัย ๖๔ ปี)ออก เพื่อจะจัดถุงเท้าให้เข้าที่ ทำนบน้ำตาผมก็พัง...คิดถึงแม่มาก ๆ ครับ!

อยากให้เพื่อน ๆ ได้ดู A  Simple Life ครับ

Sunday, July 29, 2012

ลิ้นมีปัญหา...ต้องใช้ยา

วันนี้ ผมซ่อมเมโลเดียนได้อีกตัวนึง เป็นเมโลเดียนยี่ห้อซูซูกิ เสียงเทนเนอร์ (Tenor Melodion) ขนาด ๓๒ คีย์ อาการเสียคือโน้ตตัว D (สูง) เป่าไม่ดัง...


มาดู range ของ Tenor Melodion เพื่อเป็นความรู้กันก่อน..

ที่มา : ไพรัช มากกาญจนกุล, วงเมโลเดียน 
ที่ผ่านมา..ผมซ่อมเบสเมโลเดียนได้ ๑ ตัว โซปราโน ๒ ตัว ถ้าคราวนี้ซ่อมเจ้า Tenor ได้อีกตัว ความฝันที่จะเห็นนักเรียนเล่นวงเมโลเดียนควอเต็ต (Melodion Quartet) ที่บรรเลงด้วยเครื่องซูซูกิทั้งชุด ก็น่าจะใกล้ความจริงเข้ามา

Bass Melodion

















Soprano Melodion

ช่างเหอะจัดการขันสกรู แล้วแกะเครื่องออกตรวจหาสาเหตุ...



เห็นกันจะ ๆ ลิ้น (reed) หักอยู่อย่างนั้น มันจะเป่าดังได้ยังไง?

มีเมโลเดียนขนาดเดียวกันอีกตัวหนึ่ง มันหมดสภาพแล้ว ถ้าสังเกตภาพต่อไปนี้...ก็จะเห็นว่าแผงลิ้นนั้นสกปรกมาก ๆ




เป็นที่น่าเสียดาย ที่โรงเรียนซึ่งจัดหาเครื่องเมโลเดียนยี่ห้อดี ๆ ให้นักเรียนเล่น มิได้แนะนำในเรื่องการดูแลรักษา จึงทำให้เครื่องเสียก่อนเวลาอันควร  ลองมาดูภาพความสกปรกของแผงลิ้นใกล้ ๆ อีกหน่อย...




ถ้ามีการถอดออกทำความสะอาดทุก ๆ ปี หรือครึ่งปี เครื่องก็จะมีอายุการใช้งานได้นานยิ่งขึ้น...


ในการซ่อม...ผมต้องใช้วิธี ๑+๑ = ๑ อีกครั้ง โดยตัดแผงลิ้นของเจ้าเครื่องตัวที่เละสุด ๆ นำไปใส่ให้ตัวที่จะชุบชีวิต!  วิธีทำก็ไม่ยาก ผมทำตามขั้นตอนที่เคยกล่าวไว้แล้ว...



ประกอบแผงลิ้นเข้าที่ ใส่กลับคืนเข้าเคสแล้วทดลองเป่า  ปรากฏว่าโน้ตตัว D ดังดี...แต่ตัว C ใกล้ ๆ กันกลับไม่ดัง  ช่างเหอะต้องรื้อออกมาซ่อมอีกครั้ง!

หาคัตเตอร์ไม่เจอ (อีกแล้ว...เป็นประจำเลยนะ) จึงได้หันไปคว้าแผงยาที่อยู่ใกล้ตัว ใช้ส่วนที่เป็นฟอยล์ (Blister Foil) บาง ๆ สอดเข้าไปสะกิดใต้ลิ้น (reed) อย่างที่เห็น...




ในที่สุด...ลิ้นที่ยังแข็งแรงแต่ดื้อด้านก็กลับมาทำงานตามเดิม




เรียบร้อยแล้วครับ  ลิ้นมีปัญหา...ต้องใช้ยาจริง ๆ ด้วย

Saturday, July 28, 2012

Yogyakarta

ได้จุดหมายใหม่สำหรับการเดินทางแบกเป้มาอีก ๑ แห่ง...วันนี้ผมได้รับของฝากจากผู้ปกครองนักเรียนเปียโน ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับจากการเยือน Yogyakarta ประเทศ อินโดนีเซีย



ในกล่องขนาด 9" x 6" เป็นของที่ท่านซื้อจากศูนย์การค้า Sarinah ใน Yogyakarta มาฝากผม ขอบคุณมาก ๆ ครับ

อะไรอยู่ในกล่องน้า?  ต้องขอนำออกมาให้เพื่อน ๆ ได้ดูกันหน่อย


  

เป็นแผ่นไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๖ นิ้ว หนาประมาณ ๖ หุน ลงสีพื้นและวาดลายเส้นสีทอง(นูน) รูปหน้ากากชวา (Java Mask) สวยมากครับ สามารถตั้งโชว์ได้เหมือนกรอบรูป ดังที่เห็นในภาพ

ผมยังไม่เคยไปอินโดนีเซีย จริง ๆ แล้วตอนขี่จักรยานไปสิงคโปร์ ผมตั้งใจว่าจะข้ามไปอินโดนีเซียด้วย...แต่ไม่สำเร็จ ทุกวันนี้เวลาเข้าเว็บ Air Asia ผมก็มักจะแอบเข้าไปสำรวจดูเส้นทางกรุงเทพ-บาหลีเอาไว้ก่อน!


 พอดีวันนี้ได้หนังสือท่องเที่ยว Yogyakarta มาด้วย ผมเปิดดูแล้ว รู้สึกว่าน่าสนใจมาก


ผมเลยเข้า google earth นำภาพถ่ายดาวเทียมมาให้เพื่อน ๆ ดู

เมือง Yogyakarta

บุโรพุทโธ
โอ้ย...เกิดกิเลสอีกแล้ว!

Friday, July 27, 2012

ซ่อมพัดลม...


เมื่อวานนี้...นั่งทำงานอยู่หน้าคอมพ์ฯ โดยเปิดพัดลมให้เป่าอยู่ข้าง ๆ ตัว ผมเขียนบล็อกเพลินจนจมูกได้กลิ่นไหม้!  ผมตกใจ...คิดว่ากลิ่นมาจากเครื่องคอมพิวเตอร์ รีบลุกขึ้นสำรวจทันที  เอ๊ะ..ไม่เห็นมีอะไรร้อนจัดนี่นา!  แต่พอเหลียวไปดูที่พัดลม  อ้าว...มันหยุดหมุนมาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้!  แต่ไฟยังเข้าอยู่นะ ผมเอื้อมมือไปสัมผัสบริเวณมอเตอร์  โห ร้อนจัง! กลิ่นไหม้มาจากพัดลมนั่นเอง!

ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์อะไร ถ้ามันหยุดหมุน...แต่ไฟยังเข้าอยู่ รับรองว่าไม่นาน...พังแน่!  กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านขดลวดเหนี่ยวนำมากขึ้นจนความร้อนขึ้นสูง ถ้าปิดเครื่องทัน ก็อาจจะยังใช้งานได้ หากได้รับการแก้ไข แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้อีกไม่นาน..ควันจะขึ้น แล้วเด็ดสะมอเร่ในที่สุด

ผมรอให้เครื่องหายร้อนแล้วลองเปิดสวิชอีกครั้ง ปรากฏว่ามันไม่หมุน ลองใช้ไม้เขี่ยใบพัด...ก็ยังไม่หมุนอยู่ดี!  ช่างเหอะคงต้องซ่อมซะแล้ว!

ผมถอดฝาครอบด้านหน้า หมุนที่ล็อคออก(หมุนตามเข็มนาฬิกา)แล้วดึงใบพัดออกมา

 ผลักแม่สาวน้อยให้ล้มลง...

  
แล้วใช้น้ำยาเอนกประสงค์ Sonax ฉีดลงไปที่แกนมอเตอร์อย่างที่เห็น


ไม่กี่ฟึดเอง ฉีดมากก็เปลือง อิอิ!  จากนั้นก็ลองเปิดสวิช นั่นไง..แกนเหล็กที่เคยดื้อหมุนแล้วจ้า!

ผมนำใบพัดใส่กลับเข้าอย่างเดิม หมุนที่ล็อคให้แน่น แล้วทดลองอีกครั้ง...


รู้สึกดีใจเมื่อได้รับลมเย็นจากเจ้า Hatari  ยังดีนะ...ที่ช่วยชีวิตไว้ได้ทัน!

Thursday, July 26, 2012

๑ + ๑ = ๑

ก่อนเที่ยงวันนี้...ผมใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ซ่อมเมโลเดียนให้กลับมาใช้การได้อีกตัวนึง เป็นเมโลเดียนยี่ห้อ Suzuki ครับ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๕ ผมก็ซ่อมให้ใช้การได้มาแล้วหนึ่งตัว (อ่านย้อนหลังได้ที่ "ซ่อม soprano melodion" )


เมโลเดียนทั้งสองตัว...ผมใช้วิธีการ ๑ + ๑ = ๑ คือ นำอะไหล่ที่ยังใช้ได้จากเครื่องหนึ่งไปใส่ให้อีกเครื่อง ทำให้เมโลเดียนเสีย ๒ เครื่อง กลายเป็นเมโลเดียนดีได้ ๑ เครื่อง

แต่ทว่า...ตัวที่สองนี้ มันซ่อมยากกว่าตัวแรกครับ เรามาดูกันหน่อย


ที่เห็นคือเมโลเดียนยี่ห้อซูซูกิ โซปราโนขนาด ๒๗ คีย์ อาการเสียคือ ตัวบนเป่าโน้ต D (สุง) ไม่ดัง ตัวล่างเป่าโน้ต C (สูง) ไม่ดัง  เอ้า...แกะออกดูเลย ไม่ต้องกลัว ไหน ๆ ก็เป็นเครื่องที่ใช้งานไม่ได้มานานแล้ว! ซ่อมไม่ได้ก็ไม่เป็นไร! แต่ถ้าซ่อมได้...ก็ดี

ขันสกรูออก...แล้วนำตัวเครื่องออกมาตรวจหาสาเหตุว่าทำไมถึงเป่าไม่ดัง


 นั่นไง...ลิ้นโน้ตตัว D หักไปแล้ว


ส่วนอีกตัวหนึ่ง ลิ้นโน้ต C หักไป

ซ่อมครั้งที่แล้ว ลิ้น (reed) เสียคนละแผง ผมก็เลยยกแผงเปลี่ยนได้ แต่คราวนี้เมโลเดียนป่วยสองตัวมีอาการลิ้นเสียที่แผงเสียงสูงเหมือนกัน ช่างเหอะต้องหาวิธีซ่อมให้ได้...


พอดีเลยครับ ตรงแนวสกรูที่ผมตีเส้นให้ดู สามารถตัดออก...แล้วนำแผงลิ้นด้าน Ab - C ไปใช้ได้ ส่วนอีกตัวหนึ่งก็ตัดตรงจุดเดียวกัน แล้วนำแผงลิ้นด้าน C#- G ไปใช้ได้


วิธีตัดก็ไม่ยาก ไม่ต้องมีพิธีรีตองมาก แค่ใช้ใบเลื่อยตัดเหล็กหัก ๆ ซึ่งยาวพอมือจับได้ ไม่ต้องใช้ปากกาจับตัวแผงลิ้นที่จะตัด เพราะจะทำให้ลิ้นที่ดีอยู่ชำรุดเพิ่ม ไม่ต้องขีดเส้นด้วย ใช้กะเอาด้วยสายตา(เอียง)


ผมใช้มือซ้ายจับแผงลิ้น ไม่กลัวเสียเพราะจะทิ้งอยู่แล้ว มือขวาจับใบเลื่อย ค่อย ๆ เลื่อยตัดผ่านรูสกรู (ถ้ากลัวเสียมือก็ใส่ถุงมือซะหน่อย) ใช้เวลาไม่นานหรอก ขนาดใบเลื่อยทื่อ ๆ ก็แค่ ๓-๔ นาทีเอง



ตอนใกล้ขาด...ต้องระวังแผงลิ้นทางด้านดี อย่าให้ตกลงพื้นหรือกระทบกระแทกกับอะไร!

 

ตัดแผงแรกเสร็จแล้วก็ตัดอีกแผงนึง ด้วยวิธีเดียวกัน อย่าลืมใช้มือซ้ายจับด้านลิ้นหัก ค่อย ๆ ใจเย็นเลื่อยไป...


จากนั้นก็นำแผงลิ้นเสียงสูงซึ่งแยกส่วนทั้งสองชิ้น ไปประกอบในเมโลเดียนตัวที่มีสภาพแผงลิ้นเสียงต่ำดีกว่าเพื่อน ไม่ต้องกังวลเกี่่ยวกับรอยห่างระหว่างแผงลิ้นที่นำมาใช้ด้วยกัน เพราะพอใส่สกรูตัวเล็ก ๆ ลงไป แผงลิ้นก็จะแนบสนิทกับตัวฐานเอง แต่เพื่อให้สมชื่อ "ช่างเหอะ" ผมแอบเอากาวร้อนค่อย ๆ แต้มลงไปในรอยห่างนิด ๆ (ระวังอย่าให้กาวเลอะไปโดนลิ้นเข้าล่ะ) ก่อนที่จะขันสกรูตัวสุดท้ายเข้าไป...

เรียบร้อยดีแล้ว ฉีดโซแนคทำความสะอาดลิ้น โดยปล่อยทิ้งไว้แป๊ปนึง ก่อนที่จะใช้กระดาษทิซซู่ค่อย ๆ ซับ เช็ดคราบสกปรกออก ขั้นตอนนี้มือต้องเบามาก ๆ

เสร็จแล้ว...ผมเลือกเคสตัวที่มีสภาพดีที่สุด คือพลาสติกไม่แตกร้าว และสายรัดมือไม่ขาด นำไปล้างทำความสะอาด แล้วปล่อยให้แห้ง...


จากนั้นก็นำตัวเครื่องประกอบลงในเคส ขันสกรูยึดให้แน่นทุกตัว...


ผมทดลองเป่าแล้ว...เสียงดีและดังมาก โน้ต C และ D ด้านเสียงสูงก็ใช้ได้ทั้งสองตัว!  แต่ดันมีปัญหาที่โน้ต G ตัวสุดท้าย มันไม่ดังอ่ะ ออกแรงเป่าแค่ไหน...มันก็ยังเงียบ!

ผมต้องรื้อเครื่องออกมาซ่อมอีกครั้ง โดยใช้ปลายคัตเตอร์ค่อย ๆ แคะลิ้นจอมดื้อด้วยความระมัดระวัง ซึ่งถ้าลิ้นหมดสภาพ...มันจะหักออกจากกันทันที แต่ตัวนี้โชคดีหน่อย...มันยังหนังเหนียว พอประกอบเครื่องกลับเข้าที่ ผมเป่าโน้ต G ซึ่งมีปัญหาเต็มที่ ทีแรกก็ยังเงียบ แต่พอเป่าต่ออีกหลาย ๆ ครั้ง...มันก็เริ่มมีเสียง และใช้งานได้เป็นปกติในที่สุด...

ผมซ่อมเครื่องให้ทางโรงเรียนได้อีกตัวนึงแล้ว จ้างผมเนี่ย...มันคุ้มยิ่งกว่าคุ้มเลยนะ จาบอกให้ อิอิ อิอิ...

Wednesday, July 25, 2012

ไปเยือนราชภัฏลำปาง...

วันนี้ ผมคงต้องงดเขียนเรื่อง "ฝึกเล่นไวโอลินแบบง่าย ๆ สไตล์ลุงน้ำชา" ไว้ซักวัน เพราะรู้สึกค่อนข้างล้า หลังจากไปพูดเรื่อง "เส้นทางสู่นักดนตรีมืออาชีพ" ที่ภาควิชาดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง เมื่อเวลา ๑๓.๐๐ น. - ๑๖.๐๐ น.

เที่ยงกว่า ๆ ผมเดินทางถึงภาควิชาดนตรี สถานที่ซึ่งผมคุ้นเคย รู้สึกยินดีที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ห้องเรียนและห้องพักครูถูกจัดไว้เป็นอย่างดี ห้องน้ำสะอาดกว่าเดิม จำนวนนักศึกษาก็มีมากขึ้น!


เมื่อก้าวเข้าไปในอาคารก็พบกับหม้อข้าวหม้อแกงขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนโต๊ะ ได้ทราบว่ามีการเลี้ยงอาหารนักศึกษาก่อนเข้าฟังการบรรยายด้วย  ดีจัง! ผู้ฟังจะได้ไม่หิว ส่วนผม..แบกความเครียดไปเต็ม ๆ ยังไงก็ไม่รู้สึกหิว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้หม่ำมื้อเที่ยง ได้แค่กาแฟและขนมหวานที่จัดให้ก็พอแล้ว!


รู้สึกอบอุ่นกับการต้อนรับของที่นั่น...ผมเดินขึ้นไปชั้นสองเพื่อสำรวจสถานที่ ๆ ผมจะต้องบรรยาย...


พบว่าในห้องมี keyboard อยู่ด้วย ๑ ตัว....ผมเห็น accordion ของผมวางอยู่บนโต๊ะ

    
เสียดายที่มิใช่เปียโนไฟฟ้า keyboard อย่างนี้...ผมคงเล่นไม่ค่อยถนัด!


แหงนหน้าขึ้นดู  โห! มีเครื่อง projector ด้วย แหม...ก้าวหน้าจริงนะ!  แต่คงไม่ต้องใช้ เพราะผมไปแบบโลว์เทค..


ขอถ่ายรูปนักศึกษาไว้ ๑ บาน หน้าตาหนุ่ม ๆ ดูจะเคร่งเครียดไปหน่อย แต่หลังจากนั้นอีกไม่นาน ทุกคนก็เปลี่ยนไป ผมเห็นหลายคนยิ้มปากกว้าง บ้างก็หัวเราะเสียงดัง คล้ายว่ากำลังดูรายการของ Russell Peters ไปซะงั้น!

ฟังเรื่อง "ดนตรี" ต้องไม่เครียดครับ! 

เกือบ ๓ ชั่วโมงที่ผมยืนพูด โดยไม่ใช้ไมโครโฟน ผมก็ยังงงอยู่ว่าพูดไปได้อย่างไร!!
  
มิน่าถึงได้ล้า...จนเขียนเรื่องไวโอลินไม่ออก!

Tuesday, July 24, 2012

ฝึกเล่นไวโอลินแบบง่าย ๆ สไตล์ลุงน้ำชา ๕

หัวข้อต่อไปนี้เป็นเรื่องของการหาซื้อไวโอลิน ซึ่งผมต้องออกตัวไว้เลยว่า...ไม่ถนัดเลยแม้แต่น้อย  ด้วยเหตุนี้ผมจึงไม่ขอพูดเรื่องของวิชาการ แต่จะเล่าเพียงประสบการณ์ในการหาซื้อเครื่องสายให้กับตัวเองและนักเรียนเท่านั้น

ผมขอแบ่งการหาซื้อไวโอลินสำหรับตัวเองหรือลูกหลานไว้ ๒ วิธี คือ...๑) ซื้อของมือสอง และ ๒) ซื้อของใหม่  ทั้งสองวิธีสามารถทำได้ทั้งแบบผู้ซื้อไปซื้อกับผู้ขายโดยตรง...มีโอกาสได้เห็นและได้ทดสอบเครื่องด้วยตนเอง และสั่งซื้อทางอินเทอร์เน็ตหรือฝากคนอื่นซื้อให้ ซึ่งไม่สามารถเลือกและทดสอบเครื่องด้วยตนเอง เลือกกันเองก็แล้วกันครับ...ว่าจะซื้อด้วยวิธีไหน

double bass ไม้ laminated

ข้อคิดเห็นของ "ช่างเหอะ" ในเรื่องการหาซื้อเครื่องสาย (เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เก็บไว้ในใจ เพื่อน ๆ อ่านแล้ว...จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ไม่ว่ากัน)
  • ในเปียโน...มีวัสดุอุปกรณ์ที่เสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา ดังนั้นคุณภาพและราคาของเปียโนมือสองจะลดลงเรื่อย ๆ  แต่ถ้าเป็นเครื่องสาย ยิ่งเก่าก็ยิ่งมีราคา ยิ่งใช้นานไป...เสียงก็ยิ่งดี สายและหางม้าสามารถเปลี่ยนใหม่ได้ จะเลือกเกรดดีขนาดไหนก็ได้!  ดังนั้นผมจึงชอบที่จะเลือกไวโอลินมือสองมากกว่าของใหม่
  • สำหรับไวโอลินมือสองที่ประกาศขายว่าใช้งานมาเท่านั้นเท่านี้ปี ผมไม่สนใจในเรื่องอายุ แต่อยากจะรู้ว่าชิ้นส่วนทำด้วยไม้อะไร มีร่องรอยของการแตกหัก ยับเยินมากน้อยแค่ไหนมากกว่า ถ้าเห็นว่าไม้แห้งสนิท น้ำหนักเบา เคาะแลัวเสียงกังวาน ผมก็เริ่มตาลุกวาวเพราะความอยากได้แล้ว
  • พยายามสอดสายตาไปเรื่อย ๆ บางบ้านอาจมีไวโอลินเก่า ๆ ซึ่งไม่มีใครสนใจเล่นแขวนไว้ข้างฝา หรือเก็บไว้ในตู้  ให้พยายามเก็บอาการอยากได้เอาไว้ แล้วเจรจาขอซื้อ ("ขอบูชา"...ว่างั้นเหอะ) 
  • ในอินเทอร์เน็ต...นาน ๆ ครั้งจะมีหลงออกมาให้เห็นเหมือนกัน ต้องคอยเช็คอยู่เรื่อย ๆ
  • ผมเคยได้ข่าวมาว่ามีคุณลุงท่านหนึ่งมีทั้งไวโอลินและเชลโลสะสมไว้มากมาย (เป็นตู้ ๆ) ลูกหลานก็ไม่มีใครที่สนใจ ถ้าไปขอบูชามาใช้สักคัน ท่านก็คงจะแบ่งให้... แต่ผมก็ไม่ได้ไป!
  • บ่อยครั้งที่ในอินเทอร์เน็ตมีประกาศขายไวโอลินสำหรับเด็ก เหตุผลคือ..ซื้อให้ลูกเล่นแล้วลูกไม่เล่นต่อ หรือไม่ก็ลูกโตจนต้องเปลี่ยนขนาดไวโอลิน..จึงนำเครื่องที่ไม่ได้ใช้มาประกาศขาย  ไวโอลินมือสองประเภทนี้..ผมเคยซื้อมาแล้วทั้งขนาด 1/2 และ 3/4 ในราคาไม่ถึงพันบาท
  • สำหรับการซื้อไวโอลินใหม่ ถ้าเป็นไปได้ควรมีโอกาสได้เลือกและลองเสียงด้วยตนเอง หากเลือกไม่เป็นก็หาคนที่พอรู้ไปช่วยดู
  • ไวโอลินสวยใช่ว่าจะเสียงดีเสมอไป จริง ๆ แล้ว ผมไม่ชอบเครื่องสายไม้ลามิเนต (laminated wood)เอาเสียเลย เพราะได้เสียงที่ไม่ดัง  ทึบ...ไม่พุ่งไปข้างหน้า แบบว่าสวยแต่รูป...จูบไม่หอม!
  • ผมไม่เคยแนะนำให้นักเรียนใช้ไวโอลินสีสวย ๆ ชมพูบ้าง น้ำเงินบ้าง เพราะล้วนแต่เสียงทึบ!
  • ผมเคยผิดหวังกับการสั่งซื้อเครื่องสายทางเน็ตมาแล้ว ได้รับสินค้ามา กลิ่นสียังไม่จางเลย คนขายบอกให้ผมเล่นหนัก ๆ ผ่านมาได้หลายปีแล้ว...เสียงก็ยังทึบอยู่เหมือนเดิม
  • ไวโอลินบางยี่ห้อส่งให้โดยแยกหย่องไว้ต่างหาก ร้านตัวแทนจำหน่ายต้องมาตั้งหย่องเอง อย่างนั้นบอกได้เลยว่า "ไม่ดี" 
  • เลือกซื้อไวโอลิน...อย่าได้ยึดติดกับชื่อ(ยี่ห้อ) แค่ป้ายชื่อที่ติดอยู่ข้างใน มิได้รับประกันว่าจะต้องเสียงดี มีคุณภาพ
  • เสียงของไวโอลินตัวเล็กขนาด 1/8 หรือ 1/10 จะดังไม่มาก ผู้ปกครองอย่าเพิ่งท้อใจ พอนักเรียนเปลี่ยนไปเล่นขนาด 1/4 เสียงจะดังขึ้น ผู้ปกครองจะยิ้มออก!
  • ฯลฯ ยังมีอีก แต่คิดไม่ออก อิอิ 

เจ้าขากับไวโอลินขนาด 1/10

เท่าที่ผ่านมา ผมพอสรุปได้ว่า..ผู้ที่อยากฝึกเล่นไวโอลินควรต้องเลือกใช้เครื่องมือที่ค่อนข้างดี ได้รับการปรับแต่งเบื้องต้นมาแล้วอย่างถูกต้อง และมีขนาดเหมาะสมกับผู้เล่น ส่วนเรื่องราคานั้นก็แล้วแต่กำลังของผู้ซื้อ สำหรับเด็กนักเรียน...ผมสามารถสั่งไวโอลินที่มิใช่ประเภท laminated และได้รับการปรับแต่งหย่องมาแล้ว ทางผู้จำหน่ายเค้ากรุณาลดราคาให้จากราคาขายหน้าร้านประมาณ ๓๐ เปอร์เซนต์ ผมก็คิดราคานั้นกับผู้ปกครอง (ขอเพียงค่าโอนเงินและค่าส่งสินค้าคืน) ผู้ปกครองบางท่านก็ใจดีนะ แถมค่าน้ำร้อนน้ำชาให้บ้างนิดหน่อย บางท่านก็ให้ตามที่บอก...ไม่ขาดไม่เกิน!  เมื่อสองปีก่อน...ไวโอลินที่สั่งให้เด็ก ๆ ราคาไม่เกิน ๒ พันบาท แต่เดี๋ยวนี้ค่าเงินหยวนเพิ่มขึ้น ราคาขึ้นอีกคันละหลายร้อยบาท! ต่อไปไม่กล้าสั่งให้ใครแล้ว!

เอาล่ะ เพื่อน ๆ หาซื้อไวโอลินได้หรือยังครับ? ช่วยเจียดเงินไว้หน่อยนะครับ จะได้ไว้ใช้ซื้อแสตนโน้ตและยางสนอย่างดีอีก ๑ ก้อน ทั้งสองอย่างจำเป็นสำหรับนักเล่นไวโอลิน...

เพื่อน ๆ ท่านใดมีข้อแนะนำเกี่ยวกับการหาซื้อไวโอลิน กรุณาเขียน comment ไว้ให้หน่อยนะครับ

Monday, July 23, 2012

ฝึกเล่นไวโอลินแบบง่าย ๆ สไตล์ลุงน้ำชา ๔

เมื่อวานนี้ผมเขียนเรื่องการเลือกขนาดของไวโอลินให้เหมาะกับผู้เรียน โดยการใช้บรรทัดเหล็กวัดความยาวแขน (สไตล์ช่างเหอะ) แล้วนำไปเทียบหาขนาดไวโอลินในตาราง


ขนาดของไวโอลิน
ความยาวของไวโอลิน
ลำตัว  :  ความยาวทั้งหมด

ความยาวของคันชัก

ความยาวของแขนผู้เล่น

4/4
14 นิ้ว :  23 23.5 นิ้ว
29.5 นิ้ว
23 นิ้ว หรือยาวกว่านั้น
3/4
13 นิ้ว :  21 นิ้ว
27 นิ้ว
21.5 - 22 นิ้ว
1/2
12.5 นิ้ว :  20.5 นิ้ว
24.5 นิ้ว
20 นิ้ว
1/4
11 นิ้ว :  18.5 - 19 นิ้ว
22.5 นิ้ว
18 18.5 นิ้ว
1/8
10 นิ้ว :  17 นิ้ว
19.25 นิ้ว
16.5 นิ้ว
1/10
9 นิ้ว :  16 นิ้ว
17.75 นิ้ว
15 นิ้ว
1/16
8 นิ้ว :  14.5 นิ้ว
16.75 นิ้ว
14 นิ้ว
ที่มา : Fiddleheads Violins 

พอดีเย็นวันนี้มีนักเรียนไวโอลินมาเรียน ๒ คน เพื่อขยายความ...ผมขออนุญาตนำภาพของการวัดแขนของนักเรียนมาให้เพื่อน ๆ ได้ดูประกอบ


บรรทัดเหล็กยาว 24.5 นิ้วของผมสามารถนำไปใช้กับเด็ก ๆ ได้เลย...


ความยาวของแขนเอแคร์ถ้าวัดจากคอไปถึงข้อมือคือ 19 นิ้ว และจากคอไปถึงกึ่งกลางอุ้งมือคือ 20.5 นิ้ว

3/4
13 นิ้ว :  21 นิ้ว
27 นิ้ว
21.5 - 22 นิ้ว

นักเรียนจึงยังไม่สามารถใช้ไวโอลินขนาด 3/4 ที่มีอยู่แล้วได้

1/2
12.5 นิ้ว :  20.5 นิ้ว
24.5 นิ้ว
20 นิ้ว

ไวโอลินขนาด 1/2 ที่เอแคร์ใช้อยู่จึงเหมาะสมที่สุด ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ

เอแคร์กับไวโอลินขนาด 1/2
ถ้าถือการวัดจากคอไปถึงข้อมือเป็นเกณฑ์ เอแคร์ยังมีโอกาสใช้ไวโอลินตัวนี้ไปได้เรื่อย ๆ จนกว่าแขนยาวขึ้นอีก 1-2 นิ้ว ซึ่งถ้าจะให้เล่นสบาย ๆ ก็ต้องรอให้แขนยืดยาวออกไป เหมือนกับแขนแม่นากตอนเอื้อมมือลงไปหยิบลูกมะนาวซึ่งตกลงไปใต้ถุนบ้าน...อย่างน้อยก็ 2 นิ้ว จึงค่อยเปลี่ยนไปเล่นขนาด 3/4 (ฮา)

ทีนี้มาดูความยาวของแขนน้องดาต้าบ้าง...

ความยาวของแขนนักเรียน = 15.5 นิ้ว : 16.5 นิ้ว
ขณะนี้นักเรียนกำลังใช้ไวโอลินขนาด 1/10 จึงรู้สึกได้ว่าเล่นสบาย ท่าทางก็ดูดี

1/10
9 นิ้ว :  16 นิ้ว
17.75 นิ้ว
15 นิ้ว

ไวโอลินขนาด 1/10 ของดาต้า

ดาต้าขณะบรรเลงที่แม่เมาะ

recital ครั้งแรกของดาต้า

ถ้าจะเล่นไวโอลินขนาด 1/8 ก็สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นทางซูซูกิ เค้าจะไม่แนะนำ

1/8
10 นิ้ว :  17 นิ้ว
19.25 นิ้ว
16.5 นิ้ว

วันนี้ยังคงหยุดอยู่ที่เรื่อง "การเลือกขนาดไวโอลินให้เด็ก ๆ"

เพื่อน ๆ ใจเย็นหน่อยนะครับ...