Saturday, July 14, 2012

ซ่อมเบสเมโลเดียน...

การเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ ของคนเรานี้ไม่มีการจบสิ้นจริง ๆ นะครับ ประมาณ ๑ เดือนมาแล้วที่ผมมีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่า "เมโลเดียน"  ผมเริ่มมองเห็นคุณค่า และสิ่งดี ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเครื่องดนตรีซึ่งเคยมองข้ามมาก่อนทีละนิด ๆ


ในการทำวงดุริยางค์เมโลเดียน จริง ๆ แล้วควรต้องจัดหาเมโลเดียนขนาดต่าง ๆ คือทั้ง soprano, alto และ bass ในจำนวนที่เหมาะสม มิใช่มีขนาดเดียว...ใช้ครอบจักรวาล


บางทีเมโลเดียนตัวยาวก็สู้ตัวสั้น ๆ อย่าง soprano melodion ไม่ได้ การเลือกใช้เครื่องดนตรีให้ถูกย่านเสียง (range) เหมาะกับแนว (part) และเข้ากับสรีระของผู้เล่น จะทำให้ง่ายต่อการถือ การวางนิ้ว ตลอดจนการบรรเลง

ผมเคยเห็นโรงเรียนหลาย ๆ แห่ง มีวงดุริยางค์เมโลเดียน ซึ่งบรรเลงโดยนักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น แต่มิได้จัดเครื่องให้เป็นกลุ่มและให้บรรเลงแบบมีเสียงประสาน ส่วนใหญ่จะบรรเลงแบบ unison ตามกันไป รู้สึกเสียดายโอกาสครับ ผมอยากให้ทุกโรงเรียนได้พิจารณาจัดงบซื้อเครื่องดนตรีสำหรับวงดุริยางค์เมโลเดียนให้ได้เครื่องดนตรีที่มีคุณภาพ เสียงดี มีขนาดครบตามมาตรฐาน แล้วฝึกให้นักเรียนได้เล่นอย่างถูกต้อง

ผมมีความตั้งใจที่จะทำเพลงสำหรับวงดุริยางค์เมโลเดียน เพื่อให้โรงเรียนเล็ก ๆ ทั่วไปได้นำไปใช้ แต่วันนี้อยากจะขอพูดเกี่ยวกับงานของช่างเหอะก่อนครับ...

โรงเรียนเทศบาล ๕ มีเมโลเดียนจำนวนมากมาย...ทั้งดีและเสีย ทุกวันนี้มี bass melodion หลงเหลือให้เห็นอยู่เพียงตัวเดียว


เป็น bass melodion ยี่ห้อ Suzuki ซึ่งจัดเป็นเมโลเดียนระดับแนวหน้า อาการเสียคือ คีย์กดเสียง F# (ตัวที่สอง)หัก ทำให้ตัวกระเดื่องไม่ไปปิดลมที่ผ่านลิ้น (reed) เวลาเป่าแม้มิได้กดคีย์ใด ๆ ก็เกิดเสียงตลอดเวลา เครื่องดนตรีจึงใช้การไม่ได้!  เป็นที่น่าเสียดายครับ..

ผมเชื่อในความสำคัญของแนวเบสในวงดุริยางค์เมโลเดียน อยากช่วยนำเครื่องดนตรีที่ชำรุดมาซ่อม ให้สามารถบรรเลงแนวเบสเพื่อเป็นตัวอย่างได้ จึงได้อาสาที่จะซ่อม นั่นไงครับ...คีย์มันหักออกจากกัน ดึงออกมาวางไว้ข้างนอกได้ อย่างที่เห็นในภาพ...


การซ่อมก็ต้องอาศัยวิธีการช่างเหอะอีกเหมือนเดิม ผมแกะคีย์ที่หักออกมาทั้ง ๒ ท่อน แล้วต่อเข้าด้วยกันด้วยกาวร้อน...


ใส่กาวตรงรอยต่อยังไว้ใจไม่ได้ ผมหักไม้จิ้มฟันให้เป็นท่อนสั้น ๆ แล้ววางลงไประหว่างรอยต่อ หยอดกาวร้อนประสานให้ยึดแน่น เป็นเสมือนคานเสริมให้ทั้งสองส่วนไม่หลุดออกจากกันได้โดยง่าย...


พอแห้งสนิท...คีย์ก็อยู่ในสภาพที่แข็งแรงเหมือนเดิม


แม้จะคีย์ที่ซ่อมจะแข็งแรง แต่ผมก็ไม่อยากนำไปใช้กดเสียง F# (ตัวที่สอง) เพราะตรงนั้นจะผ่านการกดบ่อยครั้งกว่า จึงได้ถอดคีย์ F# ตัวที่หนึ่งออก แล้วนำไปใส่แทน ส่วนคีย์ที่ซ่อมไว้ก็นำไปใส่ไว้กดเสียง F# ตัวแรก...

ใส่คีย์เรียบร้อยแล้ว...ผมก็ประกอบทุกอย่างเข้าที่  โดยไม่ลืมที่จะฉีกโซแนคทำความสะอาดลิ้นเสียก่อน

ทดลองเล่นดูแล้ว...ปรากฏว่าสามารถใช้งานได้ดี เพียงแต่ว่าเจ้าคีย์ F# ที่ซ่อมไว้ ต้องใช้แรงกดมากกว่าตัวอื่น ๆ เท่านั้น แต่ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะนาน ๆ ถึงจะกดเล่นซะที 



ผู้เล่น bass melodion ก็คือ "น้องแบงค์" รูปหล่อคนนี้นั่นเอง...


ซ่อมเมโลเดียนไม่ยากเลย ถ้ามีอะไหล่เปลี่ยน แต่ถ้าไม่มี...ก็ต้องใช้วิธี "ช่างเหอะ"

No comments: