Friday, January 21, 2011

ตำราเชลโลอายุ ๑๐๐ ปี

ผมเริ่มหันไปเล่นกับแม่เรไรอีกครั้ง หลังจากละทิ้งให้นอนเก็บตัวเงียบอยู่ในกล่องมาแรมปี คิดว่าถ้าจะตั้งวง string ensemble ขึ้นอีกครั้ง ผมคงต้องรับหน้าที่เล่นเชลโล เหมือนกับที่เคยบรรเลงร่วมกับอ้อ เอิน และดรีม...


ผมตั้งใจแล้วว่าจะต้องซ้อมเชลโลให้ได้ทุกวัน วันละ ๑ ชั่วโมง คือตั้งแต่ ๑ ทุ่มถึง ๒ ทุ่ม นี่ก็ทำมาได้ ๓ วันแล้ว ตำราที่ใช้นอกจากซูซูกิและอัลเฟรดแล้ว ผมยังใช้ตำราเก่าซึ่งมีอยู่อีกเล่มหนึ่ง คือ Practical Tutor for the Violoncello โดย Otto Langey เล่มนี้...


พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1909 โดย Hawkes & Son แม้ว่าฉบับที่ผมใช้จะเป็นฉบับ Revised & Enlarged ผมก็อยากเรียกว่า "ตำราเชลโลอายุ ๑๐๐ ปี" ซึ่งหาดูได้ยากก็แล้วกัน…

ตำรา ๑๒๓ หน้า เริ่มสอนตั้งแต่ rudiments of music แล้วจบด้วย sonata ของ J.N. Hummel  เรียนจบเล่มเดียวออกไปเล่นในวง orchestra ได้เลย แต่ใครบ้างที่จะเล่นได้จบเล่ม?  ลองดูหน้า ๒๐ ก็จะรู้ว่าตำราเล่มนี้อยู่ในประเภทพูดน้อยต่อยมากขนาดไหน...


น่าคิดนะครับว่าทำไมคนสมัยก่อนถึงไม่ต้องเรียนแบบค่อยเป็นค่อยไปเหมือนอย่างในตำรายอดนิยมของอัลเฟรดในปัจจุบัน สมัยก่อนรูปภาพประกอบก็ไม่มี  แต่ละเรื่อง ๆ ก็เขียนอธิบายไว้เพียงย่อ ๆ หน้าเดียวเท่านั้น หรือว่าสมัยก่อนคงต้องเรียนกับครูเหมือนอย่างในภาพยนต์ที่  Menuhin สอนนักเรียน...

สำหรับผมมีความคิดว่า คนโบราณนั้นชีวิตต้องต่อสู้ ไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ  ตำราก็หายาก คลิปวิดีทัศน์ก็ไม่มี ฉะนั้นผู้ที่อยากเล่นดนตรีเก่ง ๆ จึงต้องพยายามแสวงหา คิดค้นและฝึกฝนอย่างจริงจัง  ตำราเล่มนี้ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าคนโบราณนั้นทุ่มเทขนาดไหน…

คุณแซมได้ให้คอมเม้นท์ไว้ว่ามีตำราไวโอลินของ Otto Langey เก็บไว้ในลัง อยากจะส่งมาเก็บไว้ในห้องสมุดดนตรีลุงน้ำชา ขอขอบคุณครับ ผมคิดว่าหนังสือเก่าอย่างนั้น น่าจะแยกไว้โชว์ให้คนรุ่นใหม่ได้ดูมากกว่าที่จะนำมาใช้  ตำราเก่าของ Otto Langey เหมาะที่จะไว้แสดงให้เด็ก ๆ ได้เห็น อย่านำมาเปิดซ้อมทีละหน้าเพราะกระดาษขาดง่าย และทุกครั้งที่ฉีกขาด ก็ทำให้รู้สึกเสียดาย!

ท่านผู้พันมือ fiddle จังหวัดแพร่ก็มีเจ้า Tutor for the Violin ของ Otto Langey ตัวจริงอยู่เล่มนึง ท่านได้กรุณาถ่ายเอกสารให้ผมไว้ศึกษา ดูแล้วก็ไม่แตกต่างกัน คือเป็นแบบม้วนเดียวจบ

ยากขนาดไหน หุหุ... เห็นแล้วต้องส่ายหัว!

No comments: