อืมม์….คิดว่าตัวเองโชคดีที่เกิดมาทันได้เห็นของดี ๆ ในอดีต ผมเคยได้สัมผัสบรรยากาศบ้านเมืองเมื่อปี ๒๕๐๐ เคยได้นั่งรถราง เคยเที่ยวงาน ๒๕ พุทธศตวรรษ และเคยได้เห็นเครื่องรับวิทยุที่ต้องใช้ถ่านไฟฉายเป็นลัง ๆ
ตอนเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม เคยทดลองทำงานช่างแบบง่าย ๆ เช่น การต่อวิทยุแร่ ทำให้ตื่นเต้นเมื่อลองใช้หูฟังต่อกับ Diode แล้วนำปลายสายไปเกี่ยวเข้ากับรั้วลวดหนาม ได้ยินเสียงจากสถานีวิทยุที่อยู่ใกล้บ้าน และที่ตื่นเต้นกว่านั้นก็คือ การทำดินปืน (เฝ่า) โดยนำถ่านที่ใช้หุงข้าว กำมะถัน และดินประสิว มาตำให้ละเอียดแล้วผสมเข้าด้วยกัน จำได้ว่าวันนั้นทดลองอยู่หลังบ้าน ผสมเสร็จแล้วแบ่งออกมานิดนึง กองไว้ข้าง ๆ เพื่อทดลองจุดไฟ ปรากฏว่ามันลุกไหม้อย่างรวดเร็ว ฟู่ๆๆๆ….ผงถ่านซึ่งอยู่ในส่วนผสมกลายเป็นสะเก็ดไฟกระจายออกคล้ายดอกไม้ไฟหรือบอกไฟขนาดเล็ก มันกระเด็นเข้าไปในกระป๋องที่บรรจุดินปืน เกิดเป็นเปลวเพลิงพุ่งขึ้นสูงถึงยอดต้นพุทราซึ่งอยู่ใกล้ ๆ
โฮ้ย…ตอนเป็นเด็กมีอะไรอีกหลายอย่างที่ตื่นเต้น น่ากลัว หรือสนุกสนาน นำมาเล่าได้อย่างไม่รู้จักจบสิ้น!!
“ขี่ควาย” มีใครเคยขี่บ้าง? เจ้าควายตัวใหญ่ที่มีเขาโค้ง อย่างที่อีเรียมกับไอ้ขวัญแห่งทุ่งบางกะปิในตำนานรักเรื่อง “แผลเก่า” ขี่นั่นแหละ ชีวิตตอนเป็นเด็ก แม้พ่อแม่จะมิได้เป็นชาวนา แต่ผมก็ใช้ทุ่งนาเป็นแหล่งหนึ่งในการแสวงหาประสบการณ์ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นยิงนกตกปลา เตะบอล เล่นว่าว ช่วยชาวนาดำนา-ตีข้าว เล่นบนกองฟาง หรือแม้แต่การแอบไปนั่งสูบบุหรี่บนคันนาก็เคยทำ
ส่วนเรื่องการเรียน ก็อย่างที่ผมเคยเล่า เนื่องจากมองกระดานไม่ค่อยเห็น ผมก็เลยเรียนเท่าที่ทำได้ โรงเรียนเลิกก็ปั่นจักรยานกลับบ้าน กินข้าวแล้วออกไปเล่นกับเพื่อน ๆ กว่าจะกลับเข้าบ้านได้ก็เมื่อพระอาทิตย์เริ่มลับดอยสุเทพ วันเสาร์วันอาทิตย์ไม่ต้องเรียนพิเศษ…ผมเอาแต่เที่ยวและเล่นกับเพื่อนที่ชื่อ “จง”
ผมชอบอ่านหนังสือ นอกจาก "วีรธรรม" แล้ว…ผมยังสะสมหนังสือการ์ตูนไว้มากมาย เรื่องหนึ่งที่ชอบมาก ๆ คือ เรื่องอัศวินสายฟ้า (กว้าง ยาว โต ค่อม) เขียนโดย พ. บางพลี และ วีรกุล ทองน้อยใครเคยอ่านบ้าง? ถ้าไม่เคยอ่าน เชิญเข้าไปหาอ่านได้ที่เว็บ I Love Library
ที่มา - เว็บ I Love Library |
พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Fawcett, New York ในปี 1961 ผมขอพาเพื่อน ๆ ย้อนยุคกลับไปดูซิว่าโทรทัศน์ขาวดำรุ่นแรก ๆ มีลักษณะเป็นเช่นไร ภาพต่อไปนี้เป็นหน้าปกหนังสือเล่มที่ ๑๕ คิดว่าชายคนที่ถือหัวแร้งบัดกรีอยู่นั่นคงเสียชีวิตไปแล้ว…
ผมก็เคยทำงานในลักษณะคล้ายกัน กับโทรทัศน์เก่าซึ่งบ้านปั้ม (บ้านของคุณลุงที่ถนนเทอดไท) ยกให้ ผมนำขึ้นไปซ่อมใช้ที่เชียงใหม่ ตอนนั้นโทรทัศน์สีเริ่มเข้ามาแล้ว แต่ราคาแพงมาก เศรษฐีเท่านั้นที่จะซื้อหาไว้ดูได้…
หน้า 2776-7 มีเรื่องเกี่ยวกับ Transistor Radio แบบใช้หูฟัง เหมือนกับที่ผมเคยทดลองทำ แต่ดีกว่าตรงที่ใช้ transistor มีขดลวด (Loopstick) และตัวปรับคลื่น (Tuning Capacitor) ทำให้สามารถเลือกรับสัญญาณจากสถานีต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้ แม้ข้อมูลต่าง ๆ ในสาระนุกรมอายุ ๕ ทศวรรษชุดนี้จะล้าสมัยแล้วก็ตาม แต่ผมก็ชอบที่จะหยิบขึ้นมาเปิดดูรูป แล้วนำรูปแบบเชิงช่างไปใช้งาน อย่างเช่นภาพการทำ Tree Table ต่อไปนี้..
งาน DIY อย่างนี้ไม่มีคำว่าล้าสมัยครับ!
No comments:
Post a Comment