Monday, January 31, 2011

เรื่องของหีบเพลง

ฝนลงเม็ดขณะขี่มอเตอร์ไซค์ไปจ่ายค่าไฟฟ้า ผมรู้สึกหนาวเย็น คล้ายกับตอนที่ปั่นจักรยานฝ่าสายฝนอยู่บนเส้นทางจาก Mersing ไปยัง Cheraitng  มันเป็นความรู้สึกที่ผมเคยถวิลหา หวังว่าจะมีโอกาสได้กลับไปสัมผัสความหนาวเหน็บยามที่อยู่บนอานจักรยานอีกครั้ง งั่ม ๆ มาถึงวันนี้ ผมหมดหวังซะแล้วครับ!


จ่ายค่าไฟฟ้าเสร็จสรรพ ก็ขี่รถเลยไปซื้อปูนกาวถุงเล็ก ผงโป้ว และเหล็กยึดอ่างล้างหน้า กลับถึงบ้านผมไม่รอช้าที่จะผสมผงโป้ว ลงมืออุดรูและช่องว่างบนผนัง…


ผมต้องรอให้แห้งสนิทเสียก่อน จึงค่อยขัดกระดาษทรายและทาสี…

วันนี้อยากคุยเรื่อง accordion ซักหน่อย   จำได้ว่าสมัยที่เล่นหีบเพลงอยู่บนลานเบียร์ โรงแรมพิมาน จังหวัดนครสวรรค์ ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับ accordion ส่งให้ท่านผู้พันมือ fiddle ในทำนองว่าถ้าอยากจะก้าวไปยืนอยู่แถวหน้าในเมืองไทยก็ให้ฝึกเล่น accordion อย่างจริง ๆ จัง ๆ ผมได้เปรียบเทียบกับโอกาสที่นักเปียโนคนไทยจะมีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักนั้นยากมาก ๆ  คนไทยที่เล่นเปียโนนั้นมีเยอะเแยะ เก่ง ๆ ทั้งนั้น แต่จะมีใครบ้างที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง?   การที่นักเปียโนในเมืองไทยคนใดคนหนึ่งจะฝ่าด่านอรหันต์แล้วขึ้นไปยืนอยู่แถวหน้าได้นั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่าจะต้องเก่งจริงเก่งจังแค่ไหน….

ผมเคยเขียนว่า ในเมืองไทยหาคนเล่น accordion อย่างถูกต้องและเล่นได้ดีได้ยาก แทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้  อยากให้มีใครสักคนเริ่มเรียนตามหลักสูตร ซ้อมอย่างหนักทั้งแบบฝึกหัดและบทเพลง  ผมให้เวลาซัก ๑๐ ปีเอ้า!

เพื่อน ๆ อาจจะเคยได้ดูการแข่งขันดนตรีระดับชาติทางโทรทัศน์ ที่มีเด็กผู้หญิงชาวเวียดนามเข้าแข่งขันด้วยการใช้ accordion บรรเลงเพลง concerto ร่วมกับวง orchestra แล้วสามารถเอาชนะเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง!   ถ้ามีใครเล่น accordion ได้เก่ง ขอเพียงแค่ครึ่งเดียวของเด็กผู้หญิงคนนั้นก็พอแล้ว ผมรับรองว่าจะต้องเป็นที่กล่าวขวัญ และรู้จักอย่างกว้างขวางอย่างแน่นอน!!

ผมอยากจะเห็นคนไทยซักคนหนึ่งเลือกเรียน accordion อย่างเอาเป็นเอาตาย เหมือนกับนักศึกษาในสถาบันดนตรีที่เรียนเปียโน ไวโอลิน เครื่องเป่า และเครื่องสายอื่น ๆ คิดว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น เมื่อถึงวันนั้น เขาคนนั้นจะได้เป็น ๑ ใน ๖๐ ล้านคนของประเทศไทย!!

ในบอร์ด “คุยกะลุงน้ำชา” คุณเต้ยได้โพสต์ไว้ว่า “…ไม่รู้ว่าแอ๊คคอร์เดียนปรกติแล้ว เล่นยากขนาดไหนแล้ว และโอกาสที่จะหัดเล่นเองได้   มีโอกาสบ้างไหมครับ…แฟนผมก็เล่นไวโอลิน ผมอยากเอามา แอ๊คคอมกับไวโอลิน มันคงคลาสิกน่าดูเลยครับ…” 

จะเล่นยากขนาดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ฝึกต้องการเล่นให้ได้ระดับไหนครับ ถ้าอยากจะเป็น ๑ ใน ๖๐ ล้านคน ก็ต้องยากแน่นอน แต่ถ้าจะเล่นพอให้ใช้แอ๊คคอมมือไวโอลินหรือเล่นในวง bluegrassได้ก็ไม่ยาก!!!
หัดเล่นเองได้ไหม?  ได้ซิ…ก็ Teach Yourself to Play Accordion นั่นเอง ทำไมจะไม่ได้  ในเมื่อทุกวันนี้ ในโลกอินเทอร์เน็ต เราสามารถหาตำราและโน้ตเพลงได้ภายในไม่กี่คลิก นอกจากนั้นใน YouTube ก็มีวิดีทัศน์ของผู้สอนมากมาย ตั้งแต่ลุงจุ่นไปจนถึง accordionist ชาวยุโรป!!   ในห้องเก็บหนังสือลุงน้ำชาก็มี instructional media ให้ศึกษา

ไวโอลินเล่นกับหีบเพลงดูเข้าท่าแน่นอนครับ เล่นที่ไหนก็ได้ เครื่องดนตรีทั้งสองขิ้นไม่ต้องใช้ไฟฟ้า ไปเป็น busker เล่นเปิดหมวก มีเงินท่องไปในโลกกว้างได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดครับ

แอ๊คคอร์เดียนมีหลายขนาดให้เลือกตามประสงค์ที่จะใช้งาน ถ้าอยากเล่นแบบ ๑ ใน ๖๐ ล้าน ก็ต้องใช้ ๑๒๐ เบส ให้มันสุด ๆ ไปเลย!! ซื้อใหม่ก็ ๕ หมื่นกว่าบาท


หนักมั่ก ๆ ต้องนั่งบรรเลง ถ้าจะยืนเล่นก็ต้องตัวใหญ่ ๆ แต่ก็ยืนได้ไม่นานหรอก สำหรับผมแล้ว ถ้าจะซื้อหีบเพลงอีกซักตัว ผมก็จะซื้อขนาดเล็กที่สามารถใส่ลงเป้ได้ เหมือนอย่างที่เจ้าตัวเล็กที่ผมเคยใช้ และนำไปเล่นที่ห้วยโก๋นเมื่อ ๒ ปีที่แล้ว…

อีกหน่อยคนไทยจะเล่นหีบเพลงมากขึ้น แต่ไม่มีซักคนที่เล่นแบบผู้เชี่ยวชาญจริง ๆ

Sunday, January 30, 2011

รายงานความคืบหน้า

๓ ทุ่มแล้ว….ผมเพิ่งจะนำแม่เรไรกลับเข้าที่นอน(กล่อง) หลังจากนำออกมาฝึกซ้อมได้ประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็อย่างที่เคยบอกเพื่อน ๆ ก่อนหน้านั้นแล้วว่าผมคงต้องกลับมาซ้อมเชลโล เพื่อทำให้โครงการวง string ensemble ฟื้นคืนมาอีกครั้งหนึ่ง  จริง ๆ แล้วผมก็คงจะไม่เล่นเอง ถ้ามีเด็กนักเรียนซักคนหนึ่งเลือกเล่นเชลโล เหมือนอย่างในภาพซึ่งอาจารย์ธนดลเมล์ส่งมาให้ดูจากจังหวัดแพร่...





ผมเคยฝันว่าลำปางเราจะมีผู้ปกครองสักคนหนึ่งที่กล้าควักกระเป๋าซื้อเชลโลขนาด 1/2 ให้ลูกใช้เรียน  ทุกวันนี้ยังไม่มีครับ จะมีก็แต่ไวโอลิน แต่ผมก็เข้าใจดีว่าการลงทุนซื้อเชลโลในราคา ๘,๐๐๐ บาท โดยที่ไม่รู้ว่าลูกจะเรียนไปได้แค่ไหน ก็เป็นเรื่องที่ยากไม่น้อย  อืมม์…ถ้าผมเป็นคนรวย ผมจะซื้อเชลโลขนาด 1/8 หรือ 1/4 ไว้ที่บ้านให้เด็กใช้เรียนสักคันนึง  อยากเห็นภาพเด็กเล่นเชลโลน่ารัก ๆ เหมือนกับเด็กที่เห็นในวิดีทัศน์ครับ…



มันคงเป็นได้แค่ความฝันเท่านั้นแหละ ผมปลอบใจตัวเอง มาคุยถึงเรื่องความตืบหน้าในโครงการต่าง ๆ ของผมดีกว่าครับ เรื่องนักเรียนไวโอลินรุ่นจิ๋ว วันนี้ก็มาเรียนกันตามปกติ ขาดแต่น้องเจ้าขา  บ้านลุงน้ำชาค่อนข้างจะคึกคัก เพราะมีนักเรียนมาเพิ่มอีก ๒ คน คือ น้องเบลล์ และ น้องแบ๊งค์  และคุณอารีย์ยังพาน้องภาแวะมาคุยเรื่องไวโอลินและบรรเลงเพลงสอบเกรดเปียโนให้น้อง ๆ ได้ฟังกัน


ดูคล้ายกับว่าบ้านลุงน้ำชากลายเป็น conservatory เล็ก ๆ ไปซะแล้ว เด็ก ๆ อนุบาล ๒-๓ ได้เรียนรู้ ได้ฟังเพลงคลาสสิก และได้เห็นการเล่นเปียโนที่สมบูรณ์และไพเราะจากพี่คนหนึ่ง…


กำลังจะเริ่มเป็น “บ้านแห่งการเรียนรู้” ที่มีสีสันอย่างที่คุณเมธีบอกแล้วล่ะ…


เด็ก ๆ กำลังดูการทำงานของเปียโน ได้เห็นค้อนที่เคาะไปบนสาย และ damper ที่ขึ้น ๆ ลง ๆ  ส่วนเด็ก ๒ คนที่ยืนดูอยู่ห่าง ๆ ออกไปนั่นคือนักเรียนสองพี่น้องที่มาใหม่ (ชื่อ เบลล์ และแบ๊งค์)  ผมรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ เมื่อทราบว่าน้องแบ๊งค์ถึงกับร้องไห้เมื่อเล่นไม่ทันน้อง ๆ ซึ่งตัวเล็กกว่า ยิ่งตอนจะกลับบ้าน ครูหน่อยบอกให้สู้ น้องแบ๊งค์ส่ายหน้า ผมเห็นแล้วพูดไม่ออก ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน นอกจากเปียโนแล้ว น้องภายังเล่นไวโอลินอีกด้วย ผมมีโอกาสได้แนะนำน้องภาบ้างนิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องการดูแลรักษาไวโอลิน การถูยางสนสไตล์ลุงน้ำชา รวมทั้งเรื่องท่าทางการเล่นไวโอลิน


น้องภาสีไวโอลินให้ผมฟัง พอได้ยิน หูผมก็บอกว่ามันไม่ใช่เสกลสากล ผมสอบถามว่าเล่นดนตรีไทยด้วยหรือเปล่า จริง ๆ ด้วย…น้องภาเล่นซอในวงดนตรีไทยที่โรงเรียน  มิน่า..ผมจึงได้ยินเหมือนกับซอ ไม่ใช่ไวโอลิน!!   มันลำบากไม่น้อยเลยครับ  หากว่าคน ๆ หนึ่งจะต้องใช้นิ้วบรรเลงเพลงด้วยเสกล ๒ แบบ  ในวงดนตรีไทย ๑ คู่แปด (octave) เปรียบเหมือนเส้นก๋วยเตี๋ยวเส้นหนึ่งถูกตัดแบ่งออกเป็น ๗ ชิ้น แต่พอไปอยู่วง string ensemble เจ้าก๋วยเตี๋ยวเส้นเท่ากันกลับถูกซอยออกเป็น ๑๒ ชิ้นเท่า ๆ กัน ทำให้เสกลไทยกับสากลไม่เท่ากัน ผมแนะนำให้น้องภาเลิกสีซอ หันไปเล่นเครื่องอื่นแทน เช่นระนาดหรือขิม… ลืมบอกไปว่าไวโอลินของน้องภาเป็นไวโอลินเก่า คุณภาพดี ที่ซื้อมาในราคา ๑๕,๐๐๐ บาท


ถ่ายใกล้ ๆ ให้ดู…


การเรียนของนักไวโอลินรุ่นจิ๋วในวันนี้ก็ก้าวหน้าเป็นที่น่าพอใจ นักเรียนได้ทบทวนแบบฝึกหัดเก่า ได้ฝึกเล่นเสกล A D  และ G ก่อนพักกินขนมก็ต้องสีเพลง Twinkle Twinkle Little Star หลาย ๆ รอบ ในช่วงที่ ๒ ผมให้นักเรียนสีเพลง หนูมาลี,  Jingle Bells และ Are You Sleeping ตามเสียงร้องของผม (ยังไม่ใช้โน้ต) ปรากฏว่าทุกคนทำได้ดีครับ… ผมได้คิดกับครูหน่อยไว้ว่า บางทีอาจตัองจัดชั้นเรียนสัญจร ยกขบวนไปเรียนกันที่ศูนย์ฝึกลูกช้างหรือสวนสาธารณะ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ… ช่วงเย็นผมลุยงานกั้นห้องต่อ ตีไม้อัดเรียบร้อยแล้วครับ มีภาพให้ดูด้วย


ด้านในก็เรียบร้อยแล้วเช่นกัน ติดพัดลมดูดอากาศไว้ตรงมุมด้านบน


เตียงที่เห็นก็เป็นแบบใช้ในหอพัก  โป้ว ใส่กันเปื้อน ทาสี ทำความสะอาดพื้น ใส่บานประตู ยกเตียงมาเพิ่มอีก ๒ เตียง อีกไม่นานส่วนที่เป็น accommodation  ก็เรียบร้อยแล้ว..


วันนี้ขอรายงานเพียงแค่นี้ครับ…

Saturday, January 29, 2011

น้องบุ๊ค

ที่โรงเรียนธีรดาของครูแต้ม ผมมีนักเรียนไวโอลินอยู่ ๓ คน คือ ตั๊ก เนเน่ และบุ๊คผู้มาทีหลังเพื่อน น้องบุ๊กเพิ่งจะได้เริ่มเรียนชั่วโมงแรกเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี่เอง ไม่เหมือนนักเรียนคนอื่น... น้องบุ๊คมีเครื่องดนตรีเตรียมไว้พร้อมสรรพ แสดงถึงความมุ่งมั่น ไม่ลังเลที่จะก้าวเดินไปข้างหน้า


ในบรรดานักเรียนไวโอลินที่ผมเคยสอนมา ก็มีน้องบุ๊คนี่แหละที่เป็นคนช่างถาม คำถามแต่ละคำถามของน้องบุ๊คล้วนแสดงให้เห็นซึ่งความสนใจใฝ่รู้ ฉลาด และกล้าแสดงออก นับว่าผมได้เจอเพชรที่ยังไม่ได้เจียรนัยเข้าอีกเม็ดนึงแล้ว!!!

ในชั่วโมงแรกนั้น ผมสอนน้องบุ๊คเกี่ยวกับทุกสิ่งที่นักเรียนจำเป็นต้องรู้ อาทิ การดูแลรักษาเครื่องดนตรีนับตั้งแต่เริ่มนำไวโอลินออกจากกล่องไปจนถึงตอนเก็บเข้ากล่อง  การจับเครื่องดนตรีในท่าพัก ท่าเล่น ท่ายืน การจับโบว์ การตั้งสาย ตลอดจนชื่อโน้ตในแต่ละสาย การบ้านในชั่วโมงแรกก็คือ การสีแบบรถไฟ AADDGGEEAA   น้องบุ๊คหัวไวมากครับ ยิ่งเรียนรู้ได้เร็ว ผมก็ยิ่งสอนเร็ว!


ผมทุ่มเทให้อย่างเต็มที่  พูดได้ว่าตั้งแต่สอนมา ก็ยังไม่เคยให้นักเรียนคนใดได้เริ่มเล่นนิ้ว ๑ (อย่างที่เห็นในภาพ) หลังจากฝึกซ้อมมาได้แค่เพียงสัปดาห์เดียว ก็มีน้องบุ๊คนี่แหละ!


ชั่วโมงที่ ๒ การบ้านของน้องบุ๊คก็คือ แบบฝึกหัด เรโด (สาย A D G E A) ของลุงน้ำชา…

สอนเสร็จ…ผมไปซื้อเสบียงและยาให้พี่ชาย จากนั้นก็ไปซื้อน้ำไร้ความรู้สึกที่ตลาดนาก่วม  พอกลับถึงบ้าน ผมจับค้อนตีตะปูต่อ จนได้ผลงานอย่างที่เห็นในภาพข้างล่างนี้…


ก่อนค่ำมีผู้มาเยือนลุงน้ำชา คือ น้องนัท น้องน่าน และคุณแม่  เมื่อตอนปลายปีคุณพ่อเคยพามาแล้วครั้งนึง จากนั้นก็หายเงียบไป วันนี้คุณแม่เป็นผู้พามาคุยเรื่องเรียนไวโอลิน


เห็นเป็นเด็กอนุบาล ๒ และ ๓ ผมบอกว่าคุณแม่พามาเรียนได้ฟรี เพียงแค่ลงทุนซื้อไวโอลินให้คนละตัว คือ ขนาด 1/4 และ 1/2 ซึ่งถ้าจะเรียนจริง ๆ ก็ต้องรอให้ผมหานักเรียนให้ได้อีก ๒ คน เพื่อจะได้จัดเป็นกลุ่มที่ ๒ แล้วให้มาเรียนในวันอาทิตย์เวลา ๑๕.๐๐ น. – ๑๗.๐๐ น. คุณแม่ก็อยากให้ลูกได้เรียนครับ แต่มีปัญหาตรงที่ไม่สามารถหาเวลามาส่งลูกได้ เพราะท่านเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลค่าย ฯ ส่วนคุณพ่อก็ทำงานอยู่ต่างแดน…

คุณแม่น้องแนนและนัทถามผมว่าขอเป็นตอนค่ำได้ไหม ผมบอกว่าถ้าเรียนช่วงนั้นคงต้องโดนยุงหามแน่ ๆ พูดไปผมก็ต้องขยับแข้งขยับขาไม่ให้โดนยุงกัด ขณะที่ยุงฝูงใหญ่บินว่อนอยู่เหนือศีรษะผู้มาเยือน!!!

ได้เวลาออกหากินของ blood suckers แล้วจ้า…

Friday, January 28, 2011

คุณบิม…

เผลอแป๊ปเดียววันเสาร์อีกแล้ว!  เดือนมกราคมก็กำลังจะโบกมืออำลา อีก ๒ วันผมก็จะพูดได้แล้วว่า “หนึ่งเดือนผ่านไป ไวเหมือนโกหก”

เมื่อวานนี้ผมลุยกั้นห้องต่อ จนเหลืองานตีตะปูอีกไม่มาก ต่อจากนั้นก็จะต้องโป้ว แล้วลงสี หวังว่าสิ้นเดือนกุมภาพันธ์เรื่อง accommodation คงจะแล้วเสร็จครับ…

ช่วงบ่ายขณะที่กำลังตอกตะปูติดไม้อัดด้านใน ผมก็ได้รับโทรศัพท์อุ้กำเมืองด้วยเสียงนุ่ม ๆ หล่อ ๆ ถามว่าลุงน้ำชาหรือเปล่า?  อ่า…จะมีผู้มาเยือนอีกแล้วครับ ยินดี ๆ  ผมบอกตำแหน่งของบ้านให้ แล้ววางมือจากงาน DIY  ลงไปเปิดประตูเตรียมต้อนรับผู้ที่ผมก็ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร?  มาแล้วครับ รถสวยจังเลย!!


พอได้เห็นหน้าตาของเด็กชายสองคนที่มาด้วยผมก็รู้ได้ทันทีว่าผู้ที่มาเยือนคือ คุณบิมและครอบครัว http://bimbalo.wordpress.com เพื่อนสมาชิกที่ได้ตั้งปริศนาให้ผมได้วิเคราะห์  คุณบิมเป็นแฟนพันธุ์แท้ที่เคยพูดถึง “ร้านกาแฟไทยประเสริฐ” ลุงน้ำชายินดีต้อนรับครับ…



หมูบิวและหมูแฮ่มได้เล่นทั้งแกรนด์เปียโนและเปียโนไฟฟ้า ประชันกันด้วยเพลง Turkish March ของ Mozart เสียงกึกก้อง…



เสียดายที่มีเวลาคุยกันไม่มากนัก เพราะคุณบิมจะต้องพาลูกชายสองคนไปแข่งว่ายน้ำที่จังหวัดแพร่ ผมก็ได้แต่หวังว่าคงจะมีโอกาสได้นั่งจิบน้ำชา จับเข่าคุยกันแบบต้องไม่เร่งรีบ ผมจะได้ถามว่าคุณบิมเคยเห็นร้านกาแฟไทยประเสริฐด้วยเหรอ?

จากไปแล้ว ขอให้เที่ยวเมืองแพร่ให้สนุกนะครับ  ขอบคุณที่แวะมาเยือน


ผมขอไปสอนน้องมะเหมี่ยวก่อนนะครับ…

Thursday, January 27, 2011

Sostenuto Pedal

เช้าวันนี้ผมรู้สึกดีใจมากที่ได้รับเมล์ “สวัสดีตรุษจีน” จากคุณเมธี ผมไม่เคยได้รับจดหมายที่เขียนด้วยลายมือมานานแล้ว...

จำไม่ได้แล้วล่ะว่าครั้งสุดท้ายได้รับจดหมายเช่นนั้นเมื่อไหร่ ก็มีคุณเมธีนี่แหละครับที่เขียนจดหมายสื่อความหมายถึงผม แทนที่จะพิมพ์ส่งมาในลักษณะของอีเมลโดยตรง  คุณเมธีมิได้พับจดหมายที่เขียน ใส่ซอง ติดแสตมป์ ส่งลงตู้ไปรษณีย์ แล้วรอให้ถึงมือผมในอีก ๒ – ๓ วันข้างหน้า แค่คุณเมธีได้สแกนจดหมายนั้นแล้วส่งมากับเมล์ในลักษณะของไฟล์ pdf   ทำให้ผมเกิดความรู้สึกที่ดีมั่ก ๆ เมื่อได้เปิดออกอ่าน  ต้องขอขอบคุณครับ….

อ่อ… ยังจำได้ว่าเมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมก็ได้รับ ส.ค.ส. เขียนด้วยลายมือจากน้องจุ๊ยซึ่งทำงานอยู่โรงพยาบาลทหารผ่านศึก กทม.  ขอขอบคุณด้วยเช่นกันครับ

คุณเมธีบอกว่า “…มีภารกิจหลายอย่างที่บ้าน ทำให้…หมดอารมณ์เขียน…” หุหุ ความรู้สึกเช่นนั้นผมเข้าใจดีครับ เพราะช่วงที่พี่ชายของผมเริ่มป่วย ผมเครียดและเกิดความกลัวที่จะเขียน กลัวแม้กระทั่งการออกไปพบปะผู้คน มันเป็นเหตุให้ผมละทิ้งเว็บบอร์ด “คนรักเปียโน” จนถูกตัดบัญชีไปในที่สุด ทุกวันนี้อาการเช่นนั้นก็ยังคงมีอยู่นะครับ แต่ไม่มากเหมือนแต่ก่อน

คุณเมธีบอกอีกว่า “รู้สึกยินดีด้วยกับปิอาโนหลังใหม่ที่มาเติมสีสันให้กับบ้านเรียนรู้หลังนี้  เสียงของเด็ก ๆ  เสียงไวโอลินเพี้ยนบ้างตรงบ้าง เสียงเลื่อย เสียงค้อนตอกตะปู แสดงว่าบ้านนี้มีชีวิต และที่สำคัญจะลืมไม่ได้คือ เสียงบ่นลอยมาเป็นระยะ ๆ …”   อืมม… จริงด้วยสิ พักนี้ผมขี้บ่นจริง ๆ  ผมขออภัยเพื่อน ๆ ทุกคน ที่เข้ามารับฟังเสียงบ่นจากลุงน้ำชา (คนแก่จริง ๆ ตามที่คุณบิมแซวมา อิอิ) โดยไม่ได้คาดคิด  ต่อไปจะบ่นให้น้อยลงครับผม…

คุณเมธีได้เอ่ยถึงเจ้าแกรนด์คลาสสิก ผมก็เลยอยากเล่าเรื่องที่ดีกว่า “เสียงบ่น” ให้เพื่อน ๆ ได้ฟังซักกะหน่อย…


ขอพูดถึงเจ้าอพอลโลก่อนนะ มันเป็นแกรนด์เปียโนขนาด 6 ฟุต,  2 Pedals ซึ่งผมซื้อมาแล้วขายไป เนื่องจากขณะที่อยู่กับผม มันไม่มีปัญหาในเรื่องการทำงานของ pedals  ผมจึงไม่มีโอกาสได้เรียนรู้อะไรมากนัก  แต่พอเจ้าคลาสสิกได้มาเป็นสมาชิกใหม่ของบ้าน สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นปัญหารอให้ผมแก้ไขก็คือ อาการเสียงดังต่อเนื่องโดยที่ไม่ได้เหยียบ pedal  ผมได้ยินและรู้ปัญหานั้นตั้งแต่ช่วงที่เจ้าคลาสสิกมาอยู่ใหม่ ๆ แล้วล่ะ ตอนที่ม่าเหมี่ยวเล่นเพลง Für Elise เสียงเจ้าคลาสสิกก็ดังก้อง จนครูหน่อยเข้าใจผิดคิดว่าม่าเหมี่ยวเหยียบ sustain pedal ตลอด  แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ครับ มันมีปัญหาจริง ๆ  ตัวผมก็ไม่อยากเล่นเจ้าคลาสสิกเพราะรำคาญเสียงยืดเสียงยาว ผมปล่อยทิ้งไว้อย่างนั้น  จนกระทั่งเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้แหละผมถึงได้เริ่มลงมือซ่อม ทำให้ได้เรียนรู้ในสิ่งใหม่อีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของการซ่อม Sostenuto pedal


เอาหละ ลงมือได้แล้ว ผมเริ่มรื้อแกะด้วยความระมัดระวัง นำเอาชุด action ออกวางไว้ข้างนอกก่อน มันบอบบางมากนะครับ ต้องระวังให้ดี โดยเฉพาะในกรณีที่ทำงานคนเดียว ถ้าหัวค้อนหลุด ก้านค้อนหัก เป็นเรื่องเลยนะจะบอกให้!!!


เปียโนที่มี 3 pedals ส่วนใหญ่จะประกอบด้วย soft pedal หรือ una corda ซึ่งอยู่ซ้ายสุด,  sostenuto pedal ตัวกลาง และ sustain pedal หรือ damper pedal  เจ้าคลาสสิกก็่เช่นกัน…


นำเอา action ออกแล้ว ก็เห็นข้างในเป็นเช่นนี้…


เจ้าตัวลวดเหล็กที่เห็นเรียงกันเป็นแถวนั่นคือ damper rod ด้านปลายโผล่ขึ้นไปข้างบนโน่น ใช้บังคับการทำงานของเจ้า damper ที่ทำด้วยสักหลาด ทำหน้าที่เป็นตัวดับเสียง (mute)


ทีนี้มาดูอาการป่วยของเจ้าคลาสสิกกัน เจ้า damper rod ที่ขึ้นไปทำให้ damper ยกออกจากสาย แล้วส่วนใหญ่ไม่ยอมลงเมื่อคีย์ถูกปล่อย ภาพต่อไปนี้แสดงให้เห็นเมื่อคีย์ถูกกด ลูกศรแสดงให้เห็นทิศทางของ damper rod


พอเหยียบ sostenuto pedal จะทำให้ sostenuto rod หมุนเคลื่อนตัวไป (ตามลูกศรในภาพ) ไปยันไว้ ไม่ให้ damper rod ตกลงมา แม้ว่าคีย์จะถูกปล่อยแล้ว (ตามภาพ)


ในขณะที่ sostenuto pedal ยังถูกเหยียบอยู่ ถ้าเรากดคีย์อื่น มันจะขึ้นไปทำให้ damper ยกตัวจากสาย แต่พอปล่อยคีย์ เจ้าตัว damper rod ของโน้ตตัวที่กดทีหลังก็จะตกลงมา เพราะมิได้ถูกยันไว้ด้วย sostenuto rod

ถ้าเราปล่อย sostenuto pedal เจ้า sostenuto rod ก็จะต้องตกลงกลับสู่ตำแหน่งเดิมเหมือนตอนเริ่มต้น damper ก็จะกลับลงมาดับเสียงเอาไว้ (ดูภาพ)


กลไกง่าย ๆ ครับ แต่ต้องปรับให้ถูกต้อง แต่ถ้าปรับไม่ถูกหรือเกิดเปลี่ยนตำแหน่ง อาจทำให้เจ้า sostenuto rod ยังคงไม่ปล่อยให้ damper rod เคลื่อนลงสู่จุดเดิม เสียงเปียโนก็เลยดังยาวยืด ในเมื่อ damper ไม่ทำหน้าที่ดับเสียง!!!

ดูของจริงในเจ้าปิอาโนคลาสสิกกันนะ ที่ผมชี้ด้วยลูกศรสีเหลืองนั่นก็คือ sostenuto rod



แล้วเจ้าตัวสีแดง (ตรงปลายลูกศรในภาพต่อไปนี้) ก็คือ ตัวที่จะถูกยันไว้ด้วย sostenuto rod  หากมันไม่ตกลงมาตำแหน่งเดิมเมื่อปล่อย sostenuto pedal นั่นแหละคือตัวปัญหา!!!


เช้านี้ผมใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมงเต็มในการปรับตำแหน่งของ sostenuto rod  ในที่สุดเสียงเปียโนก็ไม่ดังยาวยืดและตีกันให้รำคาญหูอีกต่อไป   damper ทำงานถูกต้องแล้วทุกขั้นตอน!  ผมประกอบ action กลับเข้าที่เดิม…


ลองเสียงหน่อย…


โอแล้วครับ เจ้าคลาสสิกไม่งอแงอีกต่อไป

ตอนค่ำ คุณแม่ของน้องเดียร์แวะมาเยี่ยมพี่ชายของผม น้องเดียร์ก็เลยมีโอกาสได้ลองเล่นเจ้าคลาสสิก พอดีกล้องถ่ายรูปของผมถ่านหมดเสียก่อน ก็เลยบันทึกภาพน้องเดียร์กับเจ้าคลาสสิกและตอนที่เล่นไวโอลินของมะเหมี่ยวไว้ไม่ได้ ได้แต่ภาพนี้…


ขอขอบพระคุณผู้มาเยี่ยมเยือนด้วยความซาบซึ้งใจครับ…

Wednesday, January 26, 2011

น้ำตาแสงไต้

ผมมีหนังสือโน้ตเพลงเก่าอยู่หลายเล่ม เล่มหนึ่งคือ “รวมเพลงเอก ของ สง่า อารัมภีร เป็นหนังสือปกแข็ง พิมพ์เมื่อปี ๒๕๑๑ ราคา ๓๕ บาท หนังสือเล่มนี้ก็จะเป็นหนังสืออีกเล่มหนึ่งในห้องสมุดดนตรีของผม...



จริง  ๆ แล้ว ผมอยากให้เพื่อน ๆ ได้อ่านเรื่องราวดี ๆ ที่ครูสง่า อารัมภีร ได้เขียนไว้ทั้งหมด แต่มันยาวเกินกว่าที่จะหยิบยกมาไว้ที่นี่   สำหรับวันนี้เพียงเพื่อกระตุ้นความกระหายของเพื่อน ๆ ให้อยากอ่านต่อ ผมขอคัดอรัมภบทเกี่ยวกับที่มาของเพลง “น้ำตาแสงไต้” พร้อมกับโน้ตเพลงมาลงไว้


ครูแจ๋ว หรือ  สง่า อารัมภีร ได้เขียนไว้เกี่ยวกับเพลงน้ำตาแสงไต้ว่า...
“ข้าพเจ้าจำได้แม่นยำว่าวันนั้น ในราวเดือนพฤศจิกายน ๒๕๘๘ ซึ่งเป็นเวลาเกือบ ๗ ปีแล้ว “ศิวารมณ์” กำลังซ้อมละครเรื่องพันท้ายนรสิงห์อยู่ที่ห้องเล็กเฉลิมกรุง ดูเหมือนจะเข้าโปรแกรมในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน เราซ้อมกันอย่างหนักทุกวัน เพราะเวลานั้นเป็นสมัยที่เริ่มงานกันใหม่ ๆ หรือจะเรียกว่ากำลังฟิตก็ได้ สมัยนั้นเป็นสมัยที่ทุก ๆ คนกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นดารากำลังก้าวขึ้นสู่ความนิยมของประชาชน สุรสิทธิ์, จอก, สมพงษ์ และทุก ๆ คนมาซ้อมตั้งแต่เช้าจนเย็นทุกวัน (ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้เลย เช้าไม่มา เย็นไม่มา ไม่รู้ไปไหนกันแฮะ)  เนรมิต มารุต สมัยนั้นเข้าคู่กันคร่ำเครียดกับบทและวางแคแร็คเตอร์ตัวละครกันเป็นการใหญ่ นาฏศิลป์ก็ซ้อมกันไป เต้นกันไป นักร้องก็ร้องกันไป เสียงแซ่ดไปหมดบนห้องเล็กเฉลิมกรุง ตั้งแต่ ๙.๐๐ น. ถึง ๑๕.๓๐ น. ทุกวัน
ตอนนั้นข้าพเจ้ามีหน้าที่แต่เพียงดีดเปียนโนสำหรับให้นาฏศิลป์เขาซ้อม และต่อเพลงให้กับนักร้องเท่านั้น ผู้แต่งเพลงให้ศิวารมณ์สมัยนั้นคือ ประกิจ วาทยากร และ โพธิ ชูประดิษฐ์ ข้าพเจ้าเพิ่งเป็นนักดนตรีใหม่ ๆ ยังไม่ถึงปีเลย เพลงก็ยังแต่งกับเขาไม่เป็น และยังไม่เคยคิดเลยว่าจะแต่งกับเขาได้ยังไง ได้แต่ดูเขาแต่งกันเท่านั้น วันหนึ่ง ๆ ก็ได้แต่ดีดเปียนโนจนเมื่อยนิ้วไปหมด
เหลือเวลาอีก ๕ วัน ละครก็จะแสดงแล้ว ปรากฏว่าเพลงเอกของเรื่องคือเพลง “น้ำตาแสงไต้” ทำนองยังไม่เสร็จ ทั้งคุณประกิจและคุณโพธิแต่งส่งมาคนละเพลงสองเพลง ก็ยังไม่เป็นที่พอใจแก่เจ้าของเรื่องและผู้กำกับ ทั้งเจ้าของเรื่องและผู้กำกับต้องการจะให้เป็นเพลงที่มีสำเนียงเป็นไทยแท้ มีรสวิญญาณไปในทาง “หวานเย็นและเศร้า” เพลงของคุณประกิจที่ส่งมามีสำเนียงกระเดียดไปทางฝรั่ง ของคุณโพธิก็ไปกลาง ๆ คือครึ่งไทยครึ่งฝรั่ง ล่วงมาอีกหนึ่งวัน ทำนอง “น้ำตาแสงไต้” ก็ยังไม่เสร็จ เจ้าของเรื่องผู้กำกับตลอดจนผู้ร่วมงานต่างก็อึดอัดไปตาม ๆ กัน
เย็นนั้นเมื่อเลิกการซ้อมแล้ว ข้าพเจ้าก็พลอยอึดอัดและกลุ้มใจไปกับเขาด้วย ในเมื่อด้านอื่นเขาเสร็จกันเรียบร้อยแล้ว ยังอยู่เพลง “น้ำตาแสงไต้” เพลงเดียวเท่านั้น และใครก็รับรองไม่ได้ด้วยว่าเมื่อคุณประกิจและคุณโพธิแต่งมาอีกจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าของเรื่องและผู้กำกับหรือไม่ เมื่อถึงเวลาภารโรงมาปิดห้องซ้อม ข้าพเจ้าก็ลงมาเก้ ๆ กัง ๆ อยู่หน้าเฉลิมกรุง ไม่รู้จะไปไหนดีดี มันงงไปหมด….”
สำหรับเรื่องที่ครูแจ๋วเขียนถึงที่มาของเพลง “น้ำตาแสงไต้”  ยังมีต่ออีก ๑๐ กว่าหน้า  น่าสนใจมาก ๆ ครับ…


เมื่อวานนี้ท่านผู้พันมือ fiddle ได้แวะมาเยี่ยมเยียนผมที่บ้าน ก่อนที่จะขับปิคอัพขึ้นเชียงใหม่ ผมจึงได้ขอความกรุณาจากท่านให้ช่วยพาไปซื้อไม้อัด ๔ มิล จำนวน ๕ แผ่น ที่ร้านจำหน่ายวัสดุก่อสร้างซึ่งอยู่ใกล้ ๆ  ปรากฏว่าราคาไม้อัดแพงขึ้นอีก 5%  ครั้งที่แล้วผมซื้อแผ่นละ ๑๘๐ บาท ตรั้งนี้ต้องจ่ายเพิ่มเป็น ๒๐๐ บาท พอผมบ่น เจ้าของร้านก็บอกว่าอะไร ๆ ก็แพง จะให้มันราคาคงเดิมได้อย่างไร ผมอดคิดไม่ได้ว่าไม้อัดที่อยู่ในโกดังนับร้อย ๆ แผ่นนั่น อยู่ดี ๆ ก็ราคาเพิ่มขึ้นแผ่นละ ๒๐ บาท  หุหุ ไม่ซื้อก็ไม่ได้ครับ ต้องลุยงานกั้นห้องให้เสร็จ ผมกัดฟันจ่ายเงิน ๑ พันบาทให้พ่อค้าไป  ได้ไม้อัด ๕ แผ่นใส่หลังรถปิคอัพของท่านผู้พันฯ กลับบ้าน…


นอกจากจะช่วยพาผมไปซื้อไม้อัดแล้ว ท่านผู้พันฯ ยังเล่าประสบการณ์ที่มีมากมายในอดึต แล้วยังสาธิตการสีไวโอลินแนว bluegrass และแนวไทยเดิมให้ผมฟังด้วย  มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ท่านผู้พันฯ หยิบไวโอลินตัวใหม่ของน้องม่าเหมี่ยวขึ้นดู แล้วบอกว่าจากประสบการณ์ที่เล่นไวโอลินมานาน คิดว่าไวโอลินตัวนี้น่าจะมีค่าไม่ต่ำกว่า ๕,๐๐๐ บาท


ขอขอบคุณท่านผู้พันมือ fiddle ที่ช่วยให้ผมสามารถทำงานกั้นห้องต่อได้ในวันนี้….


ผ่านไปแล้วอีก ๑ วัน... 

Tuesday, January 25, 2011

ดัดหย่อง…

ไวโอลินตัวใหม่ของน้องมะเหมี่ยว อะไร ๆ ก็ดีหมด ยกเว้นหย่อง! คงเป็นเพราะไวโอลินถูกปล่อยให้หย่องตั้งอยู่ในลักษณะเอน (นิด ๆ) มานานโดยที่ไม่ได้ลดสายไว้  ไม้เริ่มบิดตัว!!!  แม้จะยังไม่มาก ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่แก้ไขก่อนนำไปใช้งาน โอกาสที่หย่องจะเสียรูปก็ยิ่งจะมีมากขึ้น!!


ผมใช้วิชา “ช่างเหอะ” อีกครั้ง เพียงแค่นำไปอาบน้ำพอให้เย็นใจ แล้วนำไปวางไว้ใต้เครื่องพิมพ์เลเซอร์ HP ซึ่งมีน้ำหนักพอที่จะกดทับให้หย่องกลับสู่สภาพตรงเช่นเดิม


หลังจากถูกล็อคตัวอยู่ใต้เครื่องพิมพ์อยู่ ๓-๔ วันเต็ม ๆ เจ้าหย่องก็ได้รับอิสรภาพอีกครั้ง (โชคดีที่ไม่มีหนูหรือแมลงสาปมาแทะ อิอิ) ตรงและพร้อมที่จะรองรับน้ำหนักของสายที่จะพาดผ่าน  ผมนำกลับเข้าสู่ตำแหน่งที่มันเคยอยู่ ยกสายขึ้นใส่ แล้วตั้งสายด้วยความระมัดระวัง…


ไวโอลินของน้องมะเหมี่ยวสามารถส่งเสียงได้อีกครั้ง เสียงดีทีเดียว ผมเองยังไม่มีประสบการณ์ในเรื่องของไวโอลินเท่ากับท่านผู้พันฯ ก็ได้แต่ลองสีดูตามประสาช่างเหอะ คือ สีสาย 4 (สายปล่อย) ถ้าเสียงออกมาดังชัดเจน มีมิติ ก็ถือว่าใช้ได้ในระดับหนึ่งแล้ว จากนั้นก็ลองสีสาย 1 ใน position สูง ๆ ฟัง harmonics ถ้าเสียงมีความสมดุลกับสายอื่น ๆ เสียงกลม ไม่บี้แบน ไม่มีอาการแตกพร่า และไม่มีความถี่แปลกปลอม ผมยิ้มออกแล้วครับ…

ค่อย ๆ ตั้งสายให้ได้ที่ ผมต้องคอยทดสอบให้ดีว่าหย่องตั้งตรง ไม่เอนไปข้างหน้าหรือข้างหลัง อืมม์…รู้สึกว่าสายจะสูงไปสักหน่อย น่าจะฝนหย่องลงอีกนิด แต่ผมก็ยังไม่อยากทำตอนนี้ เพราะอยากให้เจ้าของไวโอลินได้ลองเล่นดูก่อน   ก่อนเก็บเข้ากล่อง ผมใช้ Buff Up ของ Amway เช็ดถูทำความสะอาดจนขึ้นเงาอย่างที่เห็นในภาพ

รู้สึกยินดีกับน้องมะเหมี่ยวที่ได้เป็นเจ้าของไวโอลินดี  ในราคาไม่แพง ขอให้รักษาให้ดี ๆ นะ

Monday, January 24, 2011

ไปเจาะเลือด

ถ้าผมบอกว่าวันนี้ไปเจาะเลือด ก็เป็นที่เข้าใจว่าผมเอาแขนไปยื่นให้คุณหมอเจาะ ไม่ใช่ว่าผมไปทำหน้าที่เจาะเส้นเลือดใคร ๆ ผมว่าเรื่องของภาษาเนี่ยมันน่าสนใจนะ บางคนพูดว่า "ไปตรวจหมอ" ก็ยังมี  สนุกดีครับ!!


ผมไปถึงที่สถานีอนามัยบ้านแม่กืยก่อน ๘ โมง รีบนำบัตรไปวางต่อคิวไว้ก่อน


ไม่นานนักผู้คนก็มากันมากขึ้น ผมสังเกตได้ว่าทุกคนสวมเสื้อกันหนาวแขนยาว ในขณะที่ผมสวมเสื้อเหลืองแขนสั้นตัวเดียว หุหุ ผมคงเป็นมนุษย์หนังหนาไม่รู้หนาวเหมือนคนอื่น ๆ ที่บ่นหนาวแล้วออกไปนั่งตากแดดอยู่ที่ประตู

ผมเที่ยวเดินหาเก็บภาพ แต่ไม่ค่อยมีอะไรน่าสนใจ นอกจากเจ้าต้นที่เห็นเนี่ย…


๘ โมงกว่าเจ้าหน้าที่ก็มาทำงาน ผมอยู่ลำดับที่ ๑๕ ได้รับการเจาะเลือดก็ประมาณ ๙ โมงกว่า อืมม์…ผมเป็นคนซาดิสหรือเปล่าไม่รุ?  คนอื่น ๆ เวลาโดนเจาะเลือดจะเบือนหน้าหนี ไม่ยอมมอง แต่ผมจะมองดูทุกขั้นตอน ตั้งแต่ถูกรัดแขน โดนทาแอลกอฮอล์ และเห็นปลายเข็มที่ค่อย ๆ เจาะลึกเข้าในผิวหนัง พร้อม ๆ กับความเจ็บที่เกิดขึ้นเหมือนโดนมดกัด จ้องดูเลือดที่ค่อย ๆ ถูกดูดออกมาตามปริมาณที่ต้องการ จนถึงขั้นตอนสุดท้าย  เป็นอันว่าเรียบร้อย…กลับบ้านได้!!

ก่อนกลับผมนำแผ่นซีดี Piano-Lovers  Op.1 ๒ แผ่นไปมอบให้เจ้าหน้าที่สองท่านซึ่งทำหน้าที่เจาะเลือด ท่านหนึ่งคือคุณหมอเทียม ผู้ที่เคยมาเยี่ยมพี่ชายผมถึงบ้าน (ภาพ ๑) ส่วนอีกท่านหนึ่งซึ่งได้เจาะเลือดของผมในวันนี้ (ชื่อจำไม่ได้แล้ว)  จำได้แต่ว่าท่านมือเบามาก  ผมแทบจะไม่รู้สึกเจ็บเลย…

ขี่จักรยานยนต์กลับบ้าน ผมต้องจอดสูบลมเป็นระยะ ๆ เพราะยางซึม พอถึงร้านซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ ผมก็แวะให้ช่างดู ปรากฏว่ายางรั่วตรงแผลเก่าซึ่งอยู่ระหว่างรอยต่อ ถ้าจะปะอีกก็จะอยู่ได้อีกไม่นาน ผมจึงต้องเปลี่ยนยางในใหม่ หมดตังค์ไปอีก ๙๐ บาท…

กลับถึงบ้าน ๑๐ โมงกว่า ๆ ผมชง Ovaltine Soy ซึ่งคุณแม่ของน้องเจ้าขานำมาให้เป็นของขวัญวันครู กิน ๑ ซองพร้อมกับขนมปังโฮลวีท…

จบเรื่องไปเจาะเลือดที่สถานีอนามัยบ้านแม่กืยด้วยดี!